หมอนและที่นอนอัจฉริยะ (Smart Pillow and Smart Bed)
ปัจจุบัน มีคนจำนวนมากที่มีปัญหากับอาการนอนกรน ซึ่งทางสถิติโรคนอนกรนในคนไทย ส่วนใหญ่พบได้ในกลุ่มผู้ชายมากถึง 20-30% และในกลุ่มผู้หญิงพบได้ถึง 10-15% และเป็นที่ทราบกันว่าการนอนกรนไม่ได้สร้างความรู้สึกรำคาญเพียงอย่างเดียว แต่ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันตรายที่มีผลต่อสุขภาพจิตของผู้นอนกรนและคนรอบตัวเป็นอย่างมาก และจะพบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรือมีลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจง่ายกว่าปกติ เช่น กล้ามเนื้อของเพดานอ่อนหย่อน ต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่ หรือขากรรไกรมีขนาดเล็กกว่าปกติ ซึ่งถ้าหากทางเดินหายใจตีบแคบมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการหายใจแผ่ว (Hypopnea) ซึ่งในบางรายกล้ามเนื้อดังกล่าวเกิดการหย่อนยานจนปิดทางเดินหายใจ โดยในทางการแพทย์จะเรียกว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น Obstructive Sleep Apnea (OSA) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งถ้าหากมีการหยุดหายใจหลายครั้งในขณะนอนหลับจะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย และเมื่อสมองขาดออกซิเจนก็จะต้องคอยปลุกให้ผู้ป่วยตื่นเพื่อเริ่มหายใจใหม่ วนเวียนเช่นนี้ตลอดคืน ทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาการดังกล่าวนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการเยียวยารักษาให้ถูกวิธี
ดังนั้น เมื่อมีอาการนอนกรนเกิดร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ เพราะการที่แพทย์สามารถตรวจหาสาเหตุของโรคและพิจารณาวางแผนการรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดอันตรายที่จะเกิดกับอวัยวะและระบบต่างๆ ที่สำคัญของร่างกายได้ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้จากประวัติการนอนและการตรวจความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ (Polysomnogram, PSG) ด้วยการให้ผู้ป่วยนอนในห้องนอนที่เป็นส่วนตัวเป็นเวลาหนึ่งคืน โดยจะมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ คลื่นไฟฟ้าสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ ลักษณะการหายใจ รวมถึงปริมาณออกซิเจนในเลือดโดยการติดขั้วโลหะ (Electrode) ที่บริเวณศีรษะและใบหน้า และเซ็นเซอร์ที่จมูก ขา หน้าอก และหน้าท้อง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งการตรวจรักษาปัญหาดังกล่าวในปัจจุบันค่อนข้างที่จะมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
ทีมวิจัยจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ได้เล็งเห็นความสำคัญและปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนที่มีอาการดังกล่าว จึงได้คิดค้นและประดิษฐ์เครื่องมือที่สามารถตรวจสกรีนเบื้องต้น เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและอากัปกิริยาต่างๆที่เกิดขึ้นขณะหลับ มีชื่อว่าหมอนและที่นอนอัจฉริยะ (Smart Pillow and Bed Sheet) ซึ่งได้ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการนอนหลับของโรงพยาบาลรามาธิบดีในการดูแลการวิจัยอย่างใกล้ชิด โดยหมอนและที่นอนอัจฉริยะดังกล่าว เป็นระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดและระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังตัวบนผ้า ในลักษณะของปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน เมื่อนำไปใช้จะทำให้ที่นอนกลายเป็นที่นอนอัจฉริยะที่สามารถตรวจวัดอากัปกิริยาการนอนหลับของผู้ใช้งานได้แบบเรียลไทม์ (real-time) เช่น อาการการนอนหลับว่าหลับสนิทหรือไม่ ลักษณะและอัตราการหายใจ ท่านอนถูกต้องหรือไม่ มีการกรนหรือไม่ มีการตื่นขึ้นบ่อยหรือไม่ มีความถี่อย่างไรในแต่ละคืน มีการหยุดหายใจหรือไม่ ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยผู้ใช้สามารถตรวจสอบการนอนของตนเองได้ในภายหลัง หรือสามารถนำข้อมูลดังกล่าวให้บุคลากรทางสุขภาพ เช่น แพทย์ เพื่อช่วยวินิจฉัย หรือแม้แต่แชร์ข้อมูลการนอนหลับให้ญาติมิตรได้ทราบผ่านเครือข่ายสังคม เช่น Facebook
หมอนและที่นอนอัจฉริยะนี้นอกจากจะสามารถใช้ดูแลสุขภาพส่วนตัวที่บ้านได้แล้ว ยังสามารถนำไปติดตั้งเป็นระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor Networks) ที่ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายข้อมูล เช่น นำไปใช้กับเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้หมอนและที่นอนแต่ละใบสามารถส่งข้อมูลกันเป็นทอดๆ มายังคอมพิวเตอร์กลางของโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเฝ้าติดตามคนไข้ที่นอนอยู่จำนวนมากได้พร้อมๆ กัน บนหน้าจอเดียวระบบนี้ยังสามารถนำไปเชื่อมโยงกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่คณะวิจัยได้พัฒนาขึ้น ได้แก่ รองเท้ารับส่งข้อมูล (Data Shoe) ถุงมือรับส่งข้อมูล (Data Glove) เสื้อตรวจวัดสุขภาพ (Wearable Health Monitoring) เพื่อให้เป็นระบบตรวจวัดกิจกรรมชีวิตในแต่ละวัน (Daily Activity Monitoring)
หมอนและที่นอนอัจฉริยะที่ทีมวิจัยได้สร้างขึ้นนั้น นอกจากจะเป็นระบบที่ติดตั้งได้ง่ายแล้ว ยังมีราคาที่ถูกกว่าการไปตรวจเช็คที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้คนทั่วไปที่มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลางสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาได้มากยิ่งขึ้น ...เห็นคนไทยใจดีอย่างนี้ขอยกตำแหน่งนักวิจัยใจบุญ ให้กับทีมวิจัยนี้เลยค่ะ
ที่มา : ทีมวิจัยภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล