You are here

Point-of-care for Aging society

เป็นที่แน่นอนว่าประเทศไทยในปัจจุบันกำลัง “เปลี่ยนผ่าน” ในการเข้าสู่สังคม “ผู้สูงวัย หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Aging Society” ตามหลังประเทศที่เข้าสังคมผู้สูงวัยอย่างประเทศญี่ปุ่นไปแล้วติดๆ  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไทยแบบนี้เกิดจากการที่วัยทำงาน หรือวัยเจริญพันธุ์นั้นลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่มีอายุมากขึ้น (ตามการให้คำนิยามของผู้สูงวัย คือมากกว่า 60 ปีขึ้นไป)  และอายุยืนขึ้นด้วยวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ และการที่มีคนจำนวนมากอยู่ในช่วง “ผู้สูงวัย” นี้ส่งผลต่อประเทศทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัว การออม การลงทุน แรงงานและการาจ้างงาน การจัดสรรทรัพยากรของรัฐต่อประชากรในกลุ่มนี้ รวมถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือ เรื่องระบบการบริการดูแลรักษาสุขภาพและการแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน  ดังนั้นการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศจะต้องให้ความสำคัญในการวางแผนและดำเนินการเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

          เมื่อพูดถึงเรื่องระบบการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ (และไม่สูงอายุ) ในประเทศไทย เราจะพบว่าประเทศไทยมีระบบการบริการสุขภาพในระดับดีพอสมควร เรามีโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่หลายแห่งในระดับภูมิภาค มีโรงพยาบาลประจำเขตท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล และเรายังมีโรงพยาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งในเมืองหลวง และขนาดเล็กตามจังหวัดต่างๆ  แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังประสบปัญหากับการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในแต่ละปี รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งที่มีความจำเป็นในระดับห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล และ สถานที่ให้บริการทางการแพทย์ การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือข้อจำกัดในการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นผ่านการใช้อุปกรณ์ (device) ณ จุดตรวจ ซึ่งส่งผลให้ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเกือบทั้งหมด ทำให้การบริการไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะการตรวจวิเคราะห์บางประเภท ณ จุดตรวจ แต่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็ยังเป็นการตรวจอย่างง่าย เช่น การตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด (Glucose sensor) การตรวจด้วยเครื่องวัดจำนวนเซลล์ (Hemacytometer) การย้อมทางจุลชีววิทยาเบื้องต้น การตรวจปัสสาวะ และรวมชนิดตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง (diagnostic kit) บางชนิด เท่านั้น

ดังนั้นmประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมในการให้บริการผู้ป่วยให้คู่ขนานไปกับการเติบโตของสังคมผู้สูงวัยซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน โดยเฉพาะการนำระบบ Point-of-care testing (POCT) ซึ่งเป็นการนำเครื่องมือในการตรวจวิเคราะห์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ ณ จุดตรวจผู้ป่วย ซึ่ง POCT อาจะแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆอีกว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจข้างเตียงผู้ป่วยนั่นเอง โดยอาจจะนำมาใช้ได้ในห้องฉุกเฉิน หรือหน่วยห้องพักผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ (Intensive care unit : ICU) โดยเครื่องมือดังกล่าวนั้นควรจะครอบคลุมการตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำลาย จากผู้ป่วยได้ ซึ่งอาจจะเป็นการตรวจทางเคมี การตรวจหาเซลล์ของเชื้อโรค หรือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ให้ได้ค่าการตรวจวัดใกล้เคียงกับการใช้เครื่องมือมาตรฐานในห้องปฏิบัติการมากที่สุด

          เหตุผลที่ทำให้ POCT มีความจำเป็นในปัจจุบันและอนาคตคือ เพื่อเป็นการลดระยะเวลาในการรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการที่ทำหน้าที่รับตัวอย่างเป็นจำนวนมาก และในหลายกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือฉุกเฉิน การรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการอาจจะทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น การใช้ POCT จะช่วยทำให้แพทย์ตัดสินใจในการดำเนินการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายได้ทันท่วงทีมากขึ้น  นอกจากนี้ โรคบางชนิดที่ต้องการการติดตามอย่างสม่ำเสมอ อย่างเช่น ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งต้องการการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจจะขึ้นลงอย่างรวดเร็วและอาจจะส่งผลให้เกิดโรคอย่างอื่นตามมาได้ ดังนั้นการใช้อุปกรณ์ POCT ที่ตรวจได้ถูกต้องแม่นยำ พกพาง่ายและราคาไม่สูง จึงมีจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

นอกจากนี้ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการผลิตอุปกรณ์เซนเซอร์ทางการแพทย์หรือชุดตรวจทางการแพทย์เพื่อนำมาใช้สำหรับ POCT เพราะเรามีนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ โดยอาจจะมุ่งเน้นไปที่โรคที่ยังไม่มีการผลิตอุปกรณ์หรือชุดตรวจขนาดเล็กขึ้น หรือกลุ่มโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจในห้องปฏิบัติการเป็นเวลานาน แต่มีความต้องการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น (Early Diagnosis) ที่มีประสิทธิภาพ และการผลิตอุปกรณ์ POCT สำหรับกลุ่มโรคของผู้ป่วยสูงอายุที่จะทำให้การรักษาจากแพทย์ทันเวลาและช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที ซึ่งการที่ประเทศมี POCT ที่มีศักยภาพสูง รัฐจะสามารถลดปัญหาแบกรับภาระทางการแพทย์ได้เป็นอย่างมาก ร่วมถึงเป็นการส่งเสริมให้ประเทศมีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้น และสำคัญที่สุดคือทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านสุขภาพที่ยั่งยืน

ที่มา:

1) Current & Future Applications of Point of Care Testing, http://wwwn.cdc.gov/cliac/pdf/addenda/cliac0207/addendumf.pdf

2) Older Population and Health System: A profile of Thailand, http://www.who.int/ageing/projects/intra/phase_one/alc_intra1_cp_thailand.pdf