You are here

ยาลบความทรงจำอันแสนเจ็บปวด

เชื่อว่าทุกคนคงมีความทรงจำบางอย่างที่อยากลบทิ้ง ความทรงจำที่เคยต้องสูญเสียคนรัก ความกลัว หรือ โศกนาฏกรรมที่เคยผ่าน แต่ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนว่าความทรงจำเหล่านี้ก็ยังคงคอยตามหลอกหลอนเราอยู่เสมอ

แต่เรื่องนี้อาจจะเป็นข่าวดี นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนความทรงจำเหล่านี้ได้แล้ว จากการค้นพบที่ว่า ความทรงจำของเราไม่ได้เป็นอะไรที่เก็บไว้ได้คงทนถาวรตลอดไป แบบที่เราเคยเข้าใจกัน

นักวิจัยปัจจุบันรู้แล้วว่าเราจะลบ เปลี่ยน และสร้างความทรงจำใหม่เข้าไปยังไง และมียาที่ช่วยให้สมองของเราตัดการเชื่อมต่อกับความรู้สึกแย่ๆ ได้

มันอาจจะฟังดู Sci-fi แบบหนังเรื่อง Eternal Sunshine for the spotless Mind หรือ Total Recall ที่พระเอกนางเอก สามารถลบความจำเรื่องแฟนเก่าออกไปได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เราอยากจะบอกว่า เราเข้าใกล้การทำให้มันเป็นจริงมากกว่าที่คุณคิดซะอีก

ภาพประกอบจากภาพยนต์เรื่อง Eternal Sunshine for the spotless Mind

แล้วเราจะลบความทรงจำนั้นได้อย่างไร เพื่อจะเข้าใจมันได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า ความทรงจำเก็บในสมองของเราอย่างไร  ในสมัยก่อนนักวิทยาศาสตร์มักจะคิดว่า ความทรงจำเก็บที่จุดใดจุดหนึ่ง เหมือนกับการเก็บเข้าแฟ้มอะไรแบบนั้น แต่ที่จริงแล้วมันมีการเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกันเป็นโครงข่ายมากกว่า

หรือจะอธิบายให้ง่าย ความทรงจำถูกสร้างขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นเซลล์สมองให้โตขึ้นและสร้างการเชื่อมต่ออันใหม่ขึ้นมา ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ สร้างเป็นวงจรภายในความคิดของเรา เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ความทรงจำก็จะเก็บอยู่ไว้อย่างนั้น จนในบางครั้งบางคราวเราก็นึกถึงมันขึ้นมา

ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือ ความทรงจำระยะยาวเหล่านี้ไม่เสถียรสักเท่าไหร่ ที่จริงแล้ว ทุกครั้งที่เราดึงความทรงจำนั้นขึ้นมา ความทรงจำเหล่านั้นจะถูกปรับแต่ง และรีเซ็ตให้แข็งแรงและชัดเจนมากกว่าเดิม และเก็บเข้าไปแทนที่ความทรงจำอันเดิม กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า การรวมกันอีกครั้ง (reconsolidation) และนั่นทำให้ความทรงจำของเราเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อเวลาผ่านไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณตกจักรยานตอนเด็ก ทุกครั้งที่นึกถึงมันก็จะรู้สึกเซ็งหรือเจ็บปวด เพราะคุณสร้างการเชื่อมต่อที่แน่นหนาระหว่างความทรงจำจักรยานกับความรู้สึกที่กลัวหรือเศร้า ในที่สุดแค่เห็นจักรยาน ก็ทำให้รู้สึกขยาดได้ แต่ในทางกลับกัน เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ความทรงจำอันโหดร้ายที่เคยมี ก็กลายเป็นเรื่องตลกที่ทำให้เราหัวเราะร่าได้เช่นกัน

กระบวนการ การรวมตัวอีกครั้ง(reconsolidation) นั้นสำคัญมาก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่นักวิทยาศาสตร์จะเข้าไป แฮ็ก ความทรงจำของเรา จากงานวิจัยได้พูดถึงว่าความทรงจำมันเหมือนแก้ว เวลาสร้างมันจะเปลี่ยนสถานะจากหลอมเหลวเป็นความทรงจำที่แข็งและเก็บไว้ เมื่อมันถูกเรียกขึ้นมา มันจะอ่อนตัวอีกครั้ง และนั่นเป็นจังหวะที่ทำให้เราเปลี่ยนมันได้ก่อนที่มันจะแข็งตัวและเก็บไว้อีกรอบ

ดังนั้น วิธีการเปลี่ยนความทรงจำอันเลวร้าย ไม่ใช่การลบมันทิ้ง แต่คือการลบการเชื่อมต่อระหว่างความทรงจำนั้นกับความรู้สึกเจ็บปวดต่างหาก

จากการศึกษาพบว่า การยับยั้งสารเคมีที่ร่างกายหลั่ง ชื่อว่า นอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) สามารถลดการเชื่อมต่อความทรงจำกับความรู้สึกเจ็บปวดได้ (นอร์อิพิเนฟริน เป็นสารที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อร่างกายต้องเผชิญกับภาวะบีบคั้น ก่อให้มีอาการที่เหงื่อชุ่มมือ หรือหัวใจเต้นเร็ว เช่น มันหลั่งทุกครั้งที่เราต้องไปพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก) ถ้าหากเรายับยั้งสารเคมีตัวนี้ได้เมื่อนึกถึงความทรงจำบางอย่างขึ้นมา เราก็จะทำลายการเชื่อมต่อความทรงจำนั้นกับความรู้สึกเจ็บปวดได้

มีการทดลองอันหนึ่ง นักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ได้ทำการสาธิตการกำจัดความกลัวแมงมุงทารันทูล่า (แมงมุมยักษ์) โดยการใช้ยาที่เรียกว่า โพรพราโนลอล (propranolol) เพราะโพรพราโนลอลสามารถยับยั้งนอร์อิพิเนฟรินได้ (บางคนกินเวลาตื่นเต้นมากๆ เป็นยาที่ใช้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็ว) เค้านำคนที่กลัวแมงมุมมาแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรก ให้เห็นแมงมุงแล้วกินยาโพรพราโนลอล กลุ่มที่สอง ให้เห็นแมงมุมแล้วกินยาปลอม และกลุ่มที่สาม ให้กินยาโพรพราโนลอล โดยที่ไม่ต้องเห็นแมงมุม

ผลการทดลองน่าสนใจมาก กลุ่มที่สองและสามยังคงกลัวแมงมุมเหมือนเดิม แต่กลุ่มแรกที่ได้ทานยาในจังหวะที่ตื่นกลัว กลับรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเห็นแมงมุมอีกครั้ง บางคนก็สามารถสัมผัสมันได้โดยไม่รู้สึกอะไร บางคนได้รับยาเพียงไม่กี่วัน หรือ ไม่กี่สัปดาห์ ก็สามารถลดความกลัวลงอย่างเห็นได้ชัด และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ พวกเค้าก็จะไม่กลับมากลัวแมงมุมอีกเลยแม้เวลาจะผ่านมานานนับปี

ยาตัวเดียวกันได้ถูกทดลองกับผู้ที่บอบช้ำทางจิตใจอีกกลุ่มหนึ่ง ปรากฏว่า กลุ่มที่กินยาไม่ได้ลืมความทรงจำที่ไม่ดีนั้นแต่อย่างใด แต่กลับรู้สึกผ่อนคลายขึ้น และไม่เจ็บปวดเหมือนที่เคยผ่านมา

ซึ่งนี่อาจจะเป็นวิทยาการใหม่ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความเครียด อาการโฟเบีย หรือผู้ป่วยที่บอบช้ำทางจิตใจ ให้มีอาการดีขึ้นได้  แล้วคุณมีความทรงจำที่อยากจะลบออกบ้างไหม มันอาจจะไม่ถึงขั้นว่าคุณลืมมันไปหรอก แต่อย่างน้อยทุกครั้งที่นึกถึง คุณอาจจะไม่ต้องรู้สึกแย่กับมันอีกต่อไป

 หมายเหตุ ยาโพรพราโนลอล เป็นยาที่มีผลต่อการเต้นหัวใจช้าลง ต้องสั่งจ่ายจากแพทย์ ใครที่อยากลบความเจ็บปวด อาจจะต้องรออีกนิดและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

ที่มา
บทความนี้เรียบเรียงจากสารคดี เรื่อง Memory Hacker https://www.youtube.com/watch?v=CNeAL3zZRMc และ 
http://www.sciencealert.com/scientists-have-figured-out-how-to-to-erase-...
ภาพประกอบจาก www.voont.com