ผีอำ (Sleep Paralysis) คำอธิบายจากมุมมองวิทยาศาสตร์
หนังผีในเดือนตุลาคม เดือนแห่งฮาโลวีนนี้ มีหลายเรื่องที่น่าดูทีเดียว หนังไทยอย่างเรื่อง “อาบัติ” ที่เป็นหนังกระแสแรงด้วยหลายๆ สาเหตุ และดูน่ากลัวดีไม่แพ้กับหนังฝรั่งหลายเรื่องทีเดียว ไม่ควรพลาดสำหรับใครที่ชอบหนังแนวสยองขวัญ ตื่นเต้น แถมแฝงด้วยความน่ากลัวผูกกับเรื่องความเชื่อทางศาสนา หนังดูเพื่อความบันเทิงแต่ได้ให้แง่คิดหลายอย่าง ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอนำเอาหลักวิทยาศาสตร์มาแทรกกับเรื่องของความเชื่อของคนไทยสักนิดนะคะ
ผีอำ
ในแง่วิทยาศาสตร์และความเชื่อที่จะพูดถึงในบทความนี้ คือเรื่อง อาการผีอำ (หนังผีแทบทุกเรื่องต้องมีอาการนี้เป็นฉากสยองขวัญสักฉากหนึ่ง) เป็นอาการที่ไม่เพียงคนไทยก็เป็น ฝรั่งก็เป็น แต่คนทั่วโลกก็เป็น จนถึงกับมีการสร้างสารคดีที่มีคนมาเล่าเรื่องอาการผีอำโดยเฉพาะในรายการ “A project on sleep paralysis” และ “The nightmare” ใครสนใจก็ไปหาดูกันได้ (ไม่แน่ใจว่าเป็นสารคดี หรือ หนังผีกันแน่) แต่ในตัวสารคดีเอง ก็ยังไม่ได้อธิบายบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์มากนัก ดังนั้น เรามาลองวิเคราะห์กันดีกว่าว่าในแง่วิทยาศาสตร์แล้วอาการผีอำเกิดจากอะไรกันแน่?
อาการผีอำ คืออะไร?
‘My Dream My Bad Dream’ by Fritz Schwimbeck in 1915. Fritz Schwimbeck/wikimedia |
อาการผีอำ อาจจะเกิดขึ้นตอนที่เราเพิ่งนอนหลับ หรือ หลับไปได้แล้วสักพัก แล้วตื่นขึ้นมากลางดึกด้วยอาการผิดปกติหลากหลายรูปแบบ อาการผีอำนั้นแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ (1) อาการหลอนแบบมีผู้บุกรุกเข้ามาในห้อง โดยจะจินตนาการเห็นภาพว่ามีคนในห้องซ้อนกับสถานที่จริง ซึ่งจะเหมือนจริงมาก, (2) อาการขยับตัวไม่ได้ ซึ่งบางครั้งมักจะมาพร้อมกับอาการแรก และ (3) อาการที่เหมือนมีอะไรมากดทบหน้าอกและรู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก อาการแบบที่ 3 นี้ มักจะเห็นเกิดร่วมกับการหลอนทางประสาทสัมผัส เช่น รู้สึกลอยอยู่เหนือเตียงนอน เป็นต้น
ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วอาการผีอำถ้าเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวนี้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้เฉลี่ยกับบุคคลทั่วไป และค่อนข้างปกติ จากการสำรวจในอังกฤษพบว่า 30% ของผู้เข้าร่วมทำการสำรวจ เคยมีอาการผีอำมาก่อน ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง และมีเพียง 8% ที่จะมีอาการผีอำเกิดขึ้นเป็นประจำ
อาการผีอำเป็นอาการหนึ่งของความผิดปกติในการนอนหลับ เกิดขึ้นเมื่อสมองถูกรบกวนขณะที่กำลังทำงานในสภาวะวัฏจักร หลับ-ตื่น (sleep-wake Cycle) และมักจะเกิดบ่อยกับคนไข้ที่มีอาการทางจิตหรือระบบประสาท ปัจจัยความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการผีอำสำหรับคนทั่วไปนั้น อาจจะเนื่องมาจาก ความเครียด ความวิตกกังวล หรือการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ จากผลการศึกษาพบว่า คนที่อยู่ในสภาวะการนอนที่ถูกรบกวนได้ง่าย หรือนอนผิดเวลาจากเวลาธรรมชาติ เช่น คนที่ทำงานเป็นกะ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการผีอำได้มากกว่าคนนอนปกติ
พันธุกรรมเองก็เป็นปัจจัยต่อการเกิดอาการผีอำเช่นกัน ผลการศึกษาความผิดปกติในการนอนหลับของแฝดแท้ ที่มียีนเหมือนกันเกือบ 100% และแฝดเทียม ที่มียืนเหมือนกันประมาณ 50% พบว่า พันธุกรรมมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อลักษณะของวัฏจักรการนอนหลับและอาการผีอำ โดยผู้ที่มีอาการผีอำมักจะมีคนในครอบครัวหรือพี่น้องที่มีพันธุกรรมเดียวกันเป็นอาการผีอำด้วยเช่นกัน
วัฏจักรการนอนหลับและความฝัน
ในวัฏจักรการนอนหลับ ลักษณะการนอนหลับจะมี 2 ระดับหลัก ได้แก่ 1) Rapid Eye Movement Sleep (REM) หรือเรียกง่ายๆ คือ หลับไม่สนิท สมองยังตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบข้าง ยังทำงาน แต่ร่างกายไม่ทำงาน มักจะเกิดภาวะฝันหรือผีอำในช่วง REM นี้ และ 2) Non rapid eye movement sleep (NREM) หรือหลับลึก ระบบร่างกายจะผ่อนคลายและพักผ่อนเต็มที่ สมองตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบข้างช้าลง
จากกราฟแสดงให้เห็นถึงวัฏจักรการนอนหลับนับแต่ช่วง REM ถึง NREM ที่จะวนตั้งแต่ระดับที่ 1 ไปยัง 3 แล้วกลับมายังระดับ REM ใหม่อีกครั้ง ซึ่งสามารถสังเกตได้จากตัวเราเองว่าบางคืนเราก็ไม่ฝันเลย นั่นเพราะขณะช่วง REM สมองเราไม่ได้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือภาวะเครียดใดๆ แต่บางคืนเราก็จะฝันหลายครั้ง ฝันต่อกันไม่ต่อกันบ้าง นั่นเพราะเราอยู่ในภาวะ REM เป็นช่วงๆ ตามวัฏจักรการนอนในรูปนั่นเอง
จากการศึกษาล่าสุดพบว่าในอาการผีอำในช่วง REM นั้น ไม่สามารถแยกได้ระหว่างความจริงและความฝัน (ซึ่งโดยปกติแล้วส่วนมากคนที่ฝันจะไม่สามารถแยกได้ขณะนั้นว่า กำลังฝันหรือเป็นเรื่องจริง) นั่นทำให้เกิดจินตนาการซ้อนกับความเป็นจริง ซึ่งจินตนาการทั้งหลายก็มาจากสิ่งที่คนๆ นั้นเชื่ออยู่ เช่น คนไทยเวลาโดนผีอำก็อาจจะจินตนาการถึงคนใส่ชุดไทย ส่วนฝรั่งก็จินตนาการถึงแม่มด หรือมนุษย์ต่างดาว
ทีมวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้างอาการผีอำนี้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ โดยจะทำการรบกวนขณะ REM เพื่อทำให้เข้าสู่ช่วง sudden-onset REM (SOREM) และในช่วง SOREM นี้เองที่จะเป็นช่วงเวลาที่เกิดอาการผีอำได้มากที่สุด
จะแก้อาการผีอำอย่างไร?
จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มียารักษาอาการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ดังนั้น อาจจะมีการใช้ยาแก้โรคซึมเศร้าในบางรายเพื่อให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะหลับลึก (NREM) ได้ไวและนานขึ้น อย่างไรก็ตาม การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การนอนให้เป็นเวลา และการรักษาสุขภาพก็สามารถลดอาการดังกล่าวได้ จากการทดสอบพบว่าผู้ที่มีอาการผีอำลดลง 79% เกิดจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้ดีขึ้น อย่างปรับท่านอน การนอนให้เป็นเวลา การพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการออกกำลังกาย และอีกการทดสอบหนึ่งในการแก้อาการผีอำ พบว่า 54% ของผู้เกิดอาการผีอำสามารถแก้อาการผีอำได้ด้วยการพยายามขยับนิ้ว หรือขยับตัว
อาการผีอำอาจจะเป็นอะไรที่น่ากลัว แต่ถ้าเราได้ทราบหลักวิทยาศาสตร์ของอาการนี้แล้วก็ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป สิ่งที่เราควรจะตระหนักเมื่อเกิดอาการนี้คือ คุณอยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อการนอนหลับหรือไม่? คุณเครียดอะไรจนทำให้สมองจินตนาการไปในช่วงนอนหลับหรือเปล่า? คุณเหนื่อยมากหรือพักผ่อนไม่เพียงพอในช่วงนี้ใช่ไหม? หรือร่างกายเราบ่งบอกว่าต้องการลาพักร้อนแล้ว?
ที่มา
http://www.thesleepparalysisproject.org/
ที่มาของภาพ: ภาพยนต์ อาบัติ