ศูนย์ความปลอดภัยอาหาร กับภารกิจการรับรองความถูกต้อง ของวิธีทางเลือก
ในปี พ.ศ. 2547 เป็นปีที่รัฐบาลประกาศให้เป็นปีแห่งอาหารปลอดภัย เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยสูงสู่การเป็นครัวของโลก ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการตัดสินใจ (Risk Assessment and Decision Analysis Laboratory, RADAL) ได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยดำเนินการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนให้บริการวิชาการมานานกว่า 7 ปี โดยเริ่มต้นจากการวิจัยด้านความปลอดภัยอาหาร เน้นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา พัฒนา และสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนา อาหารปลอดภัยแก่อุตสาหกรรมเนื้อไก่ อาหารทะเล ตลอดจนอาหารแปรรูปเพื่อบริโภคในประเทศและการส่งออก เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและสามารถผลิตผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้มีการปรับขยายการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการสู่การเป็นศูนย์ความปลอดภัยอาหาร
กิจกรรมที่กำลังดำเนินการให้กับประเทศไทย คือการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับรองความถูกต้องของ วิธีทางเลือก การทดสอบด้านจุลชีววิทยาอาหาร ร่วมกับสมาคม AOAC International Thailand Section ภายใต้การสนับสนุนของ สถาบันวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีชั้นสูง (Advanced Institute of Science and Technology: THAIST) สวทน. เพื่อเปิดทางให้นวัตกรรมด้านการวิเคราะห์ทดสอบได้มีโอกาสเข้าสู่การใช้งานได้จริง และเปิดโอกาสทางอุตสาหกรรมและธุรกิจด้านชุดทดสอบให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต
เทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ทดสอบ และกระบวนการพัฒนาต่อไปเป็นชุดทดสอบ เป็นการพัฒนาที่จำเป็นสำหรับการตรวจสอบควบคุมความปลอดภัยอาหารและการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยประเทศไทยมีเซนเซอร์เป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ เนื่องจากเป็นเครื่องมือในการตอบสนองความต้องการของธุรกิจเกษตรและอาหาร สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกอย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของตลาดสุขภาพที่ต้องการมีชีวิตที่ยืนยาว มีสุขภาพดี ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด รวมทั้งตอบสนองภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการเครื่องมือในการวัดปริมาณเพื่อให้การจัดการในกระบวนการผลิตทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้นยังช่วยลดภาระงานประจำของภาคบริการตรวจวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อให้หน่วยงานเหล่านี้ได้เพิ่มความสนใจในการต่อยอดเทคโนโลยีมากขึ้น มีการนำชุดตรวจและเซนเซอร์ มาใช้งานอย่างกว้างขวางทั้งในด้านการแพทย์ อาหาร เกษตร และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีข้อได้เปรียบกว่าการวิเคราะห์ทดสอบในห้องปฏิบัติการที่สำคัญ ได้แก่ การใช้งานง่าย ความสะดวก ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ด้วย เหตุนี้ทำให้ตลาดของชุดตรวจและเซนเซอร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ชุดตรวจและ เซนเซอร์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีปัจจุบันพบว่ามีความพร้อมในการพัฒนาชุดตรวจและเซนเซอร์ในระดับที่ต่างกัน กล่าวคือ มีชุดตรวจในระดับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีชุดทดสอบที่มีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ผลิตยังเป็นชุดตรวจที่ใช้เทคโนโลยีด้านเคมี และเทคโนโลยีวิทยาภูมิคุ้มกัน ยังไม่มีการผลิตในเชิงการค้าด้วยเทคโนโลยีระดับโมเลกุลซึ่งใช้เพื่อการทำนายโอกาสการเกิดโรคจากข้อมูลพันธุกรรม
สำหรับเซนเซอร์นั้น โครงการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับเซนเซอร์ยังมีไม่มาก เนื่องจากต้องการการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญหลายๆ สาขา แต่ก็มีการพัฒนาในระดับห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนมากยิ่งขึ้น
ข้อจำกัดสำคัญของการพัฒนาชุดทดสอบเพื่อก้าวไปสู่เชิงพาณิชย์ คือการที่ชุดทดสอบจะต้องได้รับการรับรองให้เป็นวิธีมาตรฐาน กล่าวคือ ชุดทดสอบจะต้องได้รับการรับรองให้เป็นวิธีมาตรฐาน หรือได้รับการยอมรับจากสถาบันหรือหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือเช่น AOAC (Association of Official AnalyticalChemists) เป็นต้น แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีหน่วยงานดังกล่าวนี้ และการขอรับการรับรองมาตรฐานสากลระดับ AOAC จะต้องมีขั้นตอนและทุนดำเนินการสูง ทำให้ขั้นตอนนี้เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาชุดทดสอบไปสู่เชิงพาณิชย์ตลอดมา
สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มีพันธกิจที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศ กับสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ในการวิจัยและพัฒนาหรือการจัดการศึกษาระดับปริญญาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยให้สถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษานั้นเข้าร่วมเป็นสถาบันเครือข่ายของสถาบัน และสร้างกลุ่มสถาบันเครือข่ายในการดำ เนินโครงการหรือหลักสูตรร่วมกัน โดยเน้นโครงการหรือหลักสูตรซึ่งมีการวิจัยและพัฒนาที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในภาคการผลิตและบริการ หรือปัญหาอื่นที่กลุ่มสถาบันเครือข่ายมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงได้จัดการศึกษาแนวทางการผลักดันงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นเซนเซอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ดังนั้น THAIST จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ความปลอดภัยอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับสมาคม AOAC Thailand Section ทำการพัฒนากระบวนการ เตรียมความพร้อมในการรับรองความถูกต้องของวิธีทางเลือกและทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้การรับรองภายใต้ ‘โครงการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุดตรวจและเซนเซอร์’ เพื่อมีการพัฒนาเป็นหน่วยตรวจรับรองระบบรับรองมาตรฐานวิธีวิเคราะห์ของประเทศต่อไป
คณะทำงานที่แต่งตั้งโดย THAIST ได้พัฒนากระบวนการรับรองวิธีมาตรฐาน การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กระบวนการรับรองมาตรฐานเกิดขึ้นได้ (upstream) การจัดให้จัดหาเชื้อเป้าหมายที่ต้องทำการตรวจสอบ การทดสอบประสิทธิภาพของชุดทดสอบ การวิเคราะห์ผลและประเมินทางสถิติการตรวจรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญ และการดำเนินการหลังที่ชุดทดสอบได้รับการรับรอง (downstream management) สำเร็จไปในปีงบประมาณ 2558
ส่วนในปี 2559 เป็นต้นไป ต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไปอีก 5 ปี (2559-2563) เพื่อก่อให้เกิดการรับรองให้งานวิจัยและพัฒนาด้านการวิเคราะห์ด้วยเซนเซอร์และวิธีการทดสอบอื่นๆ ในอนาคต มีโอกาสถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาความปลอดภัยอาหารของประเทศในเชิงพาณิชย์ อันเป็นการทดแทนการนำเข้าและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทย หากฝันไปไกลๆ กว่านี้ประเทศไทยอาจสามารถสร้างอุตสาหกรรมใหม่คืออุตสาหกรรมชุดทดสอบ ขึ้นมาเป็นทางเลือก และแข่งขันด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อีกด้านหนึ่งด้วย