Human Resource Development for Sensor Technology การพัฒนาบุคลากรสำหรับเทคโนโลยีเซนเซอร์
ในการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรที่มีบทบาทสำคัญยิ่งที่เป็นปัจจัยส่งผลให้การวิจัยและพัฒนาเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็งคือทรัพยากรบุคคล โดยองค์ประกอบในเชิงบุคลากร ได้แก่ คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาบุคลากรในเทคโนโลยีด้านนั้นๆ อย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เกิดบุคลากรผู้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวและรวมไปถึงบุคคลากรในภาคอุตสาหกรรมของเทคโนโลยีนั้นๆ
สำหรับเทคโนโลยีด้านเซนเซอร์ในประเทศไทย จากผลการศึกษาของคณะผู้วิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ [1] สรุปได้ว่าการพัฒนาบุคคลากรในสาขาเซนเซอร์ควรมีมาตราการหนึ่งที่จำเป็นคือ การพัฒนาหลักสูตรสหสาขาวิชาหรือรูปแบบการเรียนการสอนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัย และจากผลการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลากรด้านเซนเซอร์ และอีกผลการศึกษาหนึ่งโดยหน่วยศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ [2] ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาธุรกิจตรวจวิเคราะห์ของประเทศไทย ซึ่งควรมุ่งไปในแนวทางการพัฒนาเครื่องมือที่เป็นไมโคร-อิเล็กทรอนิกส์และควรเพิ่มเติมการผลิตกำลังคนเชี่ยวชาญเฉพาะในกลุ่ม bioelectronics ซึ่งมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีไบโอเซนเซอร์ได้
จากผลการศึกษาข้างต้น พบว่าเทคโนโลยีเซนเซอร์ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในปัจจัยซึ่งทำให้เทคโนโลยีเซนเซอร์มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คือ เทคโนโลยีเชิงไมโคร-อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น ในเชิงการเกษตร สิ่งแวดล้อม หรือการแพทย์เป็นต้น ปัจจุบันได้มีความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องรับรู้ (Electronics and Sensors)
หลักสูตรวิศวกรรศาสตรมหาบัณฑิตสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องรับรู้เป็นหลักสูตรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตบุคคลากรที่มีความรู้ในเชิงอิเล็กทรอนิกส์โดยเป็นการนำความรู้ในเชิงอิเล็กทรอนิกส์มาบูรณาการกับเทคโนโลยีเซนเซอร์ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะมีเริ่มการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2559 เนื้อหารายวิชาในหลักสูตรจะมีรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับไมโครอิเล็กทรอนิกส์และเซนเซอร์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นการบูรณาการศาสตร์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีเซนเซอร์ สำหรับการทำวิจัยในส่วนของวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ของนักศึกษาในหลักสูตร จะมีการเน้นให้เป็นการทำวิจัยที่ตอบโจทย์หรือตอบสนองต่อความต้องการของภาคส่วนต่างๆที่ต้องการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้งาน เช่นภาคอุตสาหกรรมหรือเอกชน เป็นต้น
นอกเหนือจากการพัฒนาบุคลากรในระบบการศึกษาผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนที่ริเริ่มดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลไปแล้วนั้น การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสายปฏิบัติการเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งจากการพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้และทักษะที่มีอยู่เดิมให้แก่บุคลากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกวันนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการถ่ายทอดและดูดซับจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้บุคลากรในประเทศมีความสามารถในการเพิ่มศักยภาพและแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคการผลิตและบริการได้ การจัดการฝึกอบรมทั้งเชิงวิชาการและปฏิบัติการ จึงเป็นหนึ่งกลไกในการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่บุคลากร ซึ่งนอกจากการถ่ายทอดความรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องแล้ว การนำเสนอและชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งสาธิตการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ก็มีส่วนในการเพิ่มศักยภาพได้อีกด้วย นอกจากนั้น การร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ผ่านเวทีเสวนา เวทีประชุมวิชาการในระดับต่างๆ ในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา การผลิตเป็นสินค้าโดยนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ ในกระบวนการคิดค้น วิจัยและพัฒนา รวมถึงการผลิตอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีเซนเซอร์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเรียนรู้และพัฒนา และประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะเฉพาะทางและเทคนิคต่างๆนั้น เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรได้อีกด้วย
ที่มา:
[1] รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการการจัดทำแผนกลยุทธ์และการพัฒนาเครือข่ายเชี่ยวชาญเฉพาะทางและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีเซนเซอร์และระบบเครือข่ายเซนเซอร์ของประเทศ โดย คณะผู้วิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ 28 กรกฎาคม 2558
[2] รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำแผนที่นำทางและแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชุดตรวจและเซนเซอร โดย หน่วยศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มิถุนายน 2555