You are here

ทุกอย่างมีข้อยกเว้น - บทสัมภาษณ์ ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ เมษายน 2010

[ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ เมื่อ เมษายน 2010]
เรารู้จัก ดร.เจษฏา ในตอนที่ออกมาเล่นบทบู๊ เปิดโปงกลไกการทำงานของ GT200 จนเป็นกระแสที่สังคมพูดถึงในช่วงนั้น แม้ ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ จะเรียนจบมาด้านชีววิทยา เชี่ยวชาญเรื่องดีเอ็นเอ และงานประจำวันนี้ก็คือแยกดีเอ็นเอของใบยาสูบ ไม่เกี่ยวกับเครื่อง GT200 เลย แต่เขาบอกว่าในฐานะนักวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ขัดแข้งกับสามัญสำนึก เราก็ต้องพูด

งานหลักของ ดร.เจษฎา คือตรวจสอบสายพันธุ์ดีเอ็นเอของยาสูบ ต้นกำเนิดของบุหรี่ คือ ใบยาสูบ ใบยาสูบมีหลายสายพันธุ์หน้าตาของพวกมันไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ ทั้งสายพันธุ์พื้นเมืองและสายพันธุ์นำเข้า ปัญหาจึงเกิด โจทย์ที่ ดร.เจษฎาต้องแก้ ก็คือการคัดแยกว่าสายพันธุ์ไหนเป็นสายพันธุ์ไหนเพราะแต่ละสายพันธุ์เก็บภาษีไม่เท่ากัน ป้องกันการปะปนของ ใบยาสูบที่เก็บภาษีสูงกับสายพันธุ์ที่เก็บภาษีต่ำ

“ในแต่ละสายพันธุ์ดีเอ็นเอมันไม่เหมือนกันเหมือนคนแต่ละคนมีความเหมือนกัน 99.99 เปอร์เซ็นต์ แต่มันก็มีบางจุดที่แตกต่างกัน งานผมเป็นพวกไบโอเทคโนโลยี คือ เอาความรู้ ชีววิทยา...อาจจะเชิงบริสุทธิ์หน่อย คือ มีเรื่องดีเอ็นเอ แต่ก็มาประยุกต์กับโรงงาน ใช้กับโจทย์ในอุตสาหกรรมได้”

“ผมไม่สูบบุหรี่ไม่ดื่มเหล้า ด้วยงานผม คือ เอาใบมันมาแล้วสกัดๆ จนกลายเป็นดีเอ็นเอ เป็นสารเคมีในหลอดแล้วเอาไปทดสอบต่อ เป็นงานที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มันอยู่ในหลอดทดลอง”

ปีที่ไข้หวัด 2009 ระบาด ดร.เจษฎา ก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ไหนจะเรื่อง GT 200 อีกล่ะ “พูดยากผมเป็นพวกจับฉ่าย ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นกลาง ยังค้นหาตัวเองไม่เจอว่าตัวเองชอบอะไรเป็นพิเศษ อย่างคณะผมจะมีผู้เชี่ยวชาญ เรื่องลิง เรื่องเต่า แต่ผมทำเเหลกเลย”

ดร. เจษฏา เรียกตัวเองว่าเป็น โปรดักท์ของ พสวท. (โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ พสวท.) เกิดเมื่อปี 2530 ด้วยรัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนประเทศ

“มีคนบอกว่าประเทศที่เจริญแล้วจะต้องเรียนวิทยาศาสตร์ 70 เปอร์เซ็นต์ เรียนสายสังคม 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศเรา มันกลับข้าง”

“ผมเข้าใจว่าการเรียนสังคมมันก็ทำให้เราเข้าใจมนุษย์ เข้าใจสังคมแต่ในเชิงของการพัฒนาประเทศออกไป ตอนนี้เราเป็น ผู้บริโภคหมดเลย โอเค...เราขายข้าว ขายผัก แม้แต่ก้อนแร่ที่ยังไม่สกัด แต่เราซื้อเทคโนโลยีกลับมาหมดเลย สังคมศาสตร์เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราจะพัฒนาประเทศต่อไปในโลกเทคโนโลยี เราจะต้องปั้นคนแบบนั้นมากขึ้น”

ในอีก 10 ปีข้างหน้า ดร.เจษฎา คาดการณ์ว่าสังคมไทยไม่น่าจะดีขึ้นเท่าที่ควร “ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้ายไปนิดหนึ่งจริงๆ เขาฝึกให้มองโลกในแง่ดีนะ แต่ผมดูสถานการณ์ ณ วันนี้แล้วมองไปอีก 10 ปี ข้างหน้า ผมว่ายังเหมือนเดิม อาจจะดี ขึ้นหน่อยแต่คงไม่เปลี่ยนแปลงมาก ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านที่พุ่งไปเร็วมาก ของเรามีเรื่องความลวงเข้ามาเยอะ เราอาจจะเก่งเรื่องคอมพิวเตอร์ ในเชิงศิลป์ แต่คนพัฒนาโปรแกรมเรายังตามเขาไม่ทันแน่ๆ เราดีขึ้นแน่ๆ แต่ ชาวบ้านเขาก็ดีแซงเรา”

วิทยาศาสตร์ กับ ความลวง

ดร.เจษฏา บอกว่า ในโลกดิจิตอล ไม่ผิดหรอกหากจะเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ แต่วิทยาศาสตร์ลวง (pseudoscience) นี่สิน่ากลัวกว่า “วิทยาศาสตร์ลวงคือการพยายามเอาวิทยาศาสตร์ที่มันดูน่าเชื่อถือมาอธิบายให้เราหลงเชื่อ ซึ่งมันไม่ใช่ แล้วก็ชักชวนให้เราเสียเงินเสียทอง ช่วงที่เห่อเรื่องสุขภาพก็จะมีวิทยาศาสตร์ลวงเต็มเลย อาหารประเภทนี้กินแล้วดี กินแล้วไม่เป็นมะเร็ง มันแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วบ้านเรา พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์น้อย จะคิดตามไม่ทันว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้นะ นี่คือสิ่งที่น่าห่วงมากกว่า”

ดร.เจษฏา ไม่เชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาค แต่ก็บอกว่า นั่นไม่น่าห่วง เพราะความเชื่อประเภทนี้ไม่ได้ทำร้ายใคร

“สังคมไทยต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างของมนุษย์อยู่ด้วยกัน วิทยาศาสตร์อย่างเดียวอยู่ในโลกไม่ได้ ถ้าทุกอย่างต้องเชื่อวิทยาศาสตร์ มันก็กลายเป็นศาสนา”

ทุกอย่างมีข้อยกเว้น

“ทุกอย่างต้องมีข้อยกเว้น” สำหรับ ดร.เจษฏา ข้อความข้างต้นถือเป็นสิ่งที่พึงมีของนักวิทยาศาสตร์ที่แท้ สำคัญมากนะ ซึ่งเราสอนหนังสือให้เด็กผิดมากๆ เลข เราสอนให้ท่อง ให้เชื่อนะว่ากฏมันต้องเป็นอย่างนี้ๆ แต่ไม่จริงหรอก ทุกอย่างมีข้อยกเว้น สมการที่เราเรียนวันนี้ อีก 10 ปี ข้างหน้า อาจจะมีคนมาล้มก็ได้

ดร.เจษฏา เปรียบเทียบไอแซค นิวตัน – อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์- สตีเฟน ฮอว์คิง

“นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมักไม่เชื่อประโยคนี้ มัน้องเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนี้ มันค่อน้างเป็นศาสนา ศาสนาบอว่าทุกอย่างคุณต้องเชื่อตามนี้ ถ้าเมื่อไหร่คุณไปเชื่อวิทยาศาสตร์อย่างงมงาย วิทยาศาสตร์จะกลายเป็นศาสนา”

“ผมมองต่างจากคุณที่ว่า คำว่าทุกอย่างมีข้อยกเว้น เป็นทางลงให้กับวิทยาศาสตร์ ผมมองว่ามันเป็นความจริงของมัน ความจริงที่มันต้องมีทางออกหลายๆ ทางเกิดขึ้น”

ทุกอย่างที่เห็น สิ่งที่เห็นในธรรมชาติ จะมีข้อยกเว้นเสมอ ดร.เจษฏา บอก