You are here

‘ณัฏฐพร พิมพะ’ นักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นคนแรกของอาเซียน

ดร.ณัฏฐพร พิมพะ (ภาพจาก manager.co.th)

หากจะเอ่ยถึงผลงานงานวิจัยที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนาโดยคนไทย น้อยคนนักที่จะให้ความสนใจนวัตกรรมที่เกิดจากฝีมือคนไทย เพราะความรู้สึกที่ว่า “ไม่เชื่อในฝีมือบ้างล่ะ” บ้างก็ “ไม่มั่นใจเทคโนโลยีในประเทศ” ท่ามกลางความกดดันทั้งหลาย ทำให้นักวิจัยไทยคือหนึ่งในอาชีพที่ทำงานหนักมาก ทั้งการคิดค้นนวัตกรรม ที่สำคัญยังต้องทำให้นวัตกรรมนั้นๆ แก้ปัญหาให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมได้ด้วย

ผลงานเทคโนโลยี ‘ไส้กรองนาโนจากเซรามิคเคลือบเงินสำหรับเครื่องผลิตน้ำดื่มสะอาด’ ที่ช่วยผลิตน้ำดื่มสะอาดแก่ชุมชนชนบทช่วงอุทกภัยในประเทศไทยปี 2554 ของ ดร.ณัฏฐพร พิมพะ นักวิจัยห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนไฮบริดและนาโนคอมโพสิต ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของนักวิจัยหญิงรุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นอาเซียน-ยูเอส (ASEAN-US Science Prize for Women) ประจำปี 2557 ด้วยอายุเพียงแค่ 36 ปีเท่านั้น

ที่สำคัญเธอเป็นนักวิจัยหญิงคนแรกของประเทศไทยและของอาเซียนที่ได้รับรางวัลนี้ และจากบรรทัดนี้คือเบื้องหลังของ ‘งานวิจัยระดับอาเซียน’ ...

@ อยากให้ช่วยเล่าที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้

งานวิจัยนี้เริ่มต้นจากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 พวกเรานักวิจัยพยายามคิดหาวิธีต่างๆ หาองค์ความรู้ที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในตอนนั้นบ้านเราก็ถูกน้ำท่วมด้วยเหมือนกัน ในฐานะของผู้ประสบภัยน้ำท่วมคนหนึ่ง สิ่งที่เราอยากได้คือน้ำดื่มสะอาด ดังนั้นการเยียวยาผู้ประสบภัยให้มีน้ำดื่มสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในลำดับต้นๆ ที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ

ปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 ขณะนั้นสภากาชาดไทยได้แจกจ่ายน้ำดื่มสะอาดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยใช้รถสำหรับผลิตน้ำดื่มสะอาดขนาดใหญ่ แต่ยังมีข้อจำกัดสำหรับบริเวณน้ำท่วมสูงที่รถไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ผู้ประสบภัยจำนวนมากขาดแคลนน้ำสะอาด เพื่อแก้ปัญหานี้ เราจึงพัฒนาเครื่องผลิตน้ำดื่มขนาดกะทัดรัด สำหรับช่วยเหลือประชาชนประมาณ 1 พันคนต่อวัน สามารถขนเครื่องลงเรือท้องแบน และสูบน้ำผิวดินหรือน้ำแม่น้ำโดยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ มาผ่านกระบวนการกรองต่างๆและไส้กรองนาโนเพื่อผลิตน้ำดื่มสะอาดที่ได้มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข

เวลาน้ำท่วมก็มักจะพบปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้าตามมา เราจึงพัฒนาเครื่องให้สามารถทำงานได้ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และออกแบบให้ผู้ใช้สามารถใช้ได้ง่าย มีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อชุมชนประมาณ 1,000 คน มี นอกจากนี้มีการพัฒนาไส้กรองด้วยนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้ไส้กรองมีคุณสมบัติสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ซึ่งเหมาะกับยามภัยพิบัติที่มีการปนเปื้อนของเชื้อในปริมาณสูง โดยทั่วไปไส้กรองทั่วไปสามารถกำจัดเชื้อโดยผ่านการกรอง ซึ่งเชื้อที่ไม่ผ่านรูกรองอาจจะเติบโตและแพร่กระจายซึ่งจะเป็นสาเหตุหนึ่งในการทำให้ไส้กรองอุดตันเร็วด้วย ดังนั้นไส้กรองที่พัฒนาขึ้นจึงสามารถใช้ได้ทั้งในลดการปนเปื้อนของเชื้อในภาวะน้ำท่วมและช่วยยืดอายุการทำงาน ลดภาระการบำรุงรักษาในภาวะปกติได้ด้วย

@ ระยะเวลาในการวิจัยนานเพียงใด  

โครงการวิจัยด้านน้ำสะอาดนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งปี 2554 และปัจจุบันยังต่อยอดและพัฒนาโจทย์วิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สภากาชาดไทย และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร โดยเน้นพัฒนางานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำสะอาดของประเทศ เฉพาะปัจจุบันมีปัญหาภัยแล้งทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่แม่น้ำ ส่งผลให้ไม่สามารถนำน้ำในแม่น้ำมาใช้อุปโภคบริโภคหรือทำการเกษตรได้ ซึ่งคณะวิจัยก็อยู่ในระหว่างพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีให้สามารถกรองน้ำกร่อยให้เป็นน้ำที่สะอาด

@ ในระหว่างขั้นตอนการทำวิจัย เราไม่มีทางรู้ว่าผลสำเร็จจะรอที่ปลายทางหรือไม่ คุณเคยท้อไหม  

เคยท้อ แต่ไม่ถอยค่ะ เมื่อต้องเจอกับอุปสรรค หรือความไม่สำเร็จ แนวคิดที่ยึดเป็นหลักในการทำงานคือคิดบวกค่ะ ไม่มองว่าสิ่งนั้นๆ มันคือปัญหาหรือว่าอุปสรรค ถ้าเรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ยากแล้ว ไม่ว่าจะทำอย่างไงก็ไม่มีทางสำเร็จ ให้คิดว่าเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง และเรียนรู้ไปทุกวัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกำลังใจและความมุ่งมั่นว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้าวันนี้ทำไม่ได้ วันหน้าก็ต้องทำได้  ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง การแบ่งเป้าหมายย่อยในแต่ละวัน เพื่อให้สามารถทำให้สำเร็จได้ง่ายๆ ก็จะเป็นกำลังใจให้ตัวเองทำงานต่อไปในแต่ละวัน เหมือนกับการค่อยๆสะสมไปเรื่อยๆ สักวันก็จะบรรลุเป้าหมายค่ะ อดทน อย่าท้อ  สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จก็คือการทำงานเป็นทีม ต้องให้กำลังใจ ร่วมมือ และช่วยเหลือกัน

@ ทำไมคุณจึงเรียนวิทยาศาสตร์ 

เรามีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์มากมายเลยตั้งแต่เด็กๆ เชื่อว่าเด็กๆ หลายคนชอบดูการ์ตูน ซึ่ง โดราเอมอน เป็นจุดที่ทำให้เราอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพราะว่าโดราเอมอน จะมีของวิเศษเยอะแยะมาก ทำให้เราเกิดจินตนาการว่า อุ๊ย! เราอยากจะมีของวิเศษแบบโดราเอมอนบ้าง อยากประดิษฐ์ของวิเศษที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เมื่อเราเรียนหนังสือก็รู้จักกับวิทยาศาสตร์ และยิ่งได้ทราบชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังหลายคน ทำให้เรารู้สึกว่านักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่พวกสติเฟื่องหรือฝันกลางวันนะ แต่เป็นคนที่พยายามทำความฝันนั้นให้เป็นจริงโดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ก็เลยรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์นี่แหละ จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถประดิษฐ์ของวิเศษหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่า

@ โดราเอมอน มีเครื่องกรองน้ำไหม  

น่าจะมีนะคะ อาจจะสามารถกรองน้ำออกมาเป็นน้ำหวาน น้ำอัดลมหรือกาแฟ แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน (หัวเราะ) ก็คือ โดราเอมอนเป็นการ์ตูนที่ดูแล้วทำให้เราจินตนาการว่า จะมีของวิเศษ มาช่วยทำให้ชีวิตเราสบายมากขึ้นหรือตอบโจทย์ที่เราต้องการ

@ มีงานวิจัยอะไรอีกบ้างที่ยังอยากทำในอนาคต  

โห (ทำตาโต) อีกเยอะมากเลยค่ะ ยิ่งเราได้รับรางวัลนี้ ยังทำให้เรารู้สึกภูมิใจว่า ผลงานหรือสิ่งที่เราคิดพัฒนาขึ้น มันสามารถที่จะพัฒนาเอาไปช่วยเหลือสังคมชุมชนได้จริงๆ ก็ยิ่งทำให้เรามีไฟอยากคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ  นอกจากส่วนตัวของณัฐแล้ว ศูนย์นาโนเทค สวทช. ต้นสังกัดที่ณัฐทำงานอยู่ ก็ปลูกฝังให้นักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ใน สวทช. มาร่วมมือกันพัฒนางานวิจัยเพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาประเทศได้

@ สิ่งประดิษฐ์หรือนักวิทยาศาสตร์ในโลกที่จูงใจให้เป็นนักวิจัยจนทุกวันนี้  

นักวิทยาศาสตร์ที่ ‘ณัฐ’ นึกถึงและยึดมาเป็นต้นแบบ เป็นกำลังใจในการทำงานวิจัยมาถึงทุกวันนี้ ก็คือ โธมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์นวัตกรรมคนสำคัญของโลก จากนิสัยสนใจสิ่งรอบตัว ชอบทดลองทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เอดิสันสามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้พวกเราทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยิ่งถ้าได้ศึกษาชีวประวัติ จะเห็นได้ว่าเอดิสันทำการทดลองและล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ก็ไม่เคยท้อ ซึ่งเอดิสันบอกเคล็ดลับในการประสบความสำเร็จว่า มาจากความพยายามถึง 99 เปอร์เซ็นต์ อีก 1 เปอร์เซ็นต์มาจากพรสวรรค์ ดังนั้นจึงให้ณัฐคิดบวกและพยายามทำงานวิจัยต่อไปถึงแม้จะพบอุปสรรคและปัญหาค่ะ


รางวัลวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นอาเซียน

รางวัลนักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นอาเซียน-ยูเอส(ASEAN-US Science Prize for Women) เป็นรางวัลร่วมระหว่างประชาคมอาเซียนและประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการสนับสนุนจาก Underwriter Laboratories ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดรางวัลนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่นักวิจัยหญิงในภูมิภาคอาเซียน สำหรับการคัดเลือกนั้น ได้เปิดให้แต่ละประเทศในอาเซียนนำเสนอผลงานของนักวิจัยหญิงที่มีความโดดเด่นในประเทศตัวเองเข้ามา หลังจากนั้นคณะกรรมการก็จะเลือกผลงานชิ้นที่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาภาพรวมของภูมิภาคอาเซียนได้ดี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงได้มากที่สุด