You are here

หมีขั้วโลกกำลังจะตาย?

คอลัมน์ Global Warming ฉบับนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องราวของสภาพโลกร้อนโดยตรงแต่จะมาบอกเล่าว่าทำไมหมีขั้วโลกถึงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของสภาวะโลกร้อนกัน

สถานภาพปัจจุบันของหมีขั้วโลก

มีหมีขั้วโลก 20-25,000 ตัวอยู่ทั่วโลก

อาศัยอยู่ 19 พื้นที่ กระจายอยู่บริเวณประเทศอลาสก้า แคนาดา รัสเซีย และกรีนแลนด์

ประชากรหมี 60-80% อยู่ในแคนาดา

ไม่มีน้ำแข็ง? ไม่มีแมวน้ำ? ไม่มีหมีขั้วโลก?

อาหารหลักของหมีขั้วโลกคือแมวน้ำ ที่อุดมด้วยสารอาหารและไขมัน เมื่อไม่มีพื้นที่ธารน้ำแข็งให้แมวน้ำอาศัยอยู่ ย่อมส่งผลให้ประชากรแมวน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีเหยื่อไม่เพียงพอ เป็นการยากที่หมีขั้วโลกจะสามารถทนต่อความอดอยากได้โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูร้อนในแต่ละปีที่ต้องอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น แม่หมีขั้วโลกที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะไม่สามารถเลี้ยงดูลูกหมีได้อย่างสมบูรณ์ สุขภาพของแม่หมีที่อ่อนแอจะส่งผลต่อการผลิตน้ำนมที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ลูกหมีอ่อนแอและถูกทิ้งให้ตายไปในที่สุด

ภาพหมีขั้วโลกที่ Hudson Bay โดย Alex Berger

แล้วกินอย่างอื่นไม่ได้หรือ?

ถ้าเรายังไม่ลงมือแก้ไขอะไร ธารน้ำแข็งในฤดูหนาว (ที่มีแมวน้ำบนนั้น) ก็จะลดลง ทำให้หมีขั้วโลกที่ต้องอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้มีอาหารให้เลือกมากนักยกเว้น ผลเบอร์รี่ ไข่ และนก ซึ่งอาหารพวกนี้ก็ไม่มีสารอาหารที่เพียงพอต่อหมีเลย ยังไม่มีมีหมีขั้วโลกที่อาศัยเพียงแต่การกินอาหารบนผืนแผ่นดินใหญ่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ล่าแมวน้ำเลย จะทนต่อภาวะหิวโหยได้

อย่างไรก็ตาม มีหมีขั้วโลกที่ยอมปรับตัวโดยเลือกที่จะล่าแมวน้ำสายพันธุ์อื่นที่มาพักที่แผ่นดินใหญ่ แต่ข้อกังวลของนักวิทยาศาสตร์คือ แมวน้ำสายพันธุ์เหล่านี้คลุกคลีอยู่กับกิจกรรมของมนุษย์มากเกินไป อาจทำให้หมีขั้วโลก ป่วยและติดเชื้อโรคจากการกินแมวน้ำพวกนี้

งั้นอพยพกันไหม?

พวกคุณคงจะคิดว่าเพื่อหนีจากสภาวะโลกร้อนนี้ หมีขั้วโลกจะต้องอพยพไปทางทิศเหนือเพื่อพยายามหาธารน้ำแข็งและอากาศที่เย็นใช่ไหม แต่ในความเป็นจริง ภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งส่วนมากแตกแยกออกมาจากขั้วโลกเหนือเคลื่อนลงสู่ทิศใต้ ส่งผลให้ประชากรของหมีขั้วโลกส่วนมากมีแนวโน้มอพยพลงทางใต้ตามธารน้ำแข็งนั้นเช่นกัน  โดยหลักฐานยืนยันล่าสุดพบว่าประชากรหมีขั้วโลกได้เคลื่อนย้ายลงมาทางพื้นที่ทางใต้จริง เริ่มเข้าสู่เขตพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และก่อให้เกิดปัญหาระหว่างการอยู่ร่วมกัน รวมทั้ง หมีขั้วโลกที่อพยพลงใต้นั้นก็มีแนวโน้มที่จะอดตายไปเสียมากนอกเสียจากว่ามนุษย์จะช่วยให้อาหารมัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของหมีขั้วโลกไป  ยิ่งไปกว่านั้น การอพยพลงใต้ของหมีขั้วโลกนี้ยังก่อให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ร่วมกับหมีกริซซี่ที่ที่อาศัยในบริเวณนั้น นี่นับเป็นจุดจบของสายพันธุ์หมีขั้วโลกและการสูญพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

เรียบเรียงจากบทความ Will Polar Bears Die Out Because of Climate Change? โดย Lisa Feldkamp, Cool Green  Science, December 3, 2013