You are here

9.16 วันโอโซนสากล

อาศิร จิระวิทยาบุญ

โอโซน (Ozone) คือ ก๊าซที่ประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอมมีสูตรเคมีเป็น O3 และโอโซนที่อยู่บนชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ (ความสูง 12-50 กิโลเมตรจากผิวโลก) ทำหน้าที่ดูดซับรังสีต่างๆ ให้มีปริมาณลดลงโดยเฉพาะรังสีUVB  ที่ส่องมายังผิวโลก

ในปี พ.ศ. 2523 Dr. Joseph Charles Farman หัวหน้าคณะสำรวจทวีปอาร์คติคได้พบการลดลงของชั้นบรรยากาศโอโซนที่ขั้วโลกใต้ โดยมีลักษณะเป็น “หลุมโอโซน” ซึ่งต่อมานักวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นผลมาจากการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ได้แก่ CFCs, HCFCs, Halons, Methyl Chloroform, Carbon Tetrachloride และ Methyl Bromide ซึ่งเป็นสารเคมีกลุ่มฮาโลคาร์บอนที่นิยมใช้มากในอุตสาหกรรม 

ในปี พ.ศ. 2524 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำให้เกิดความตกลงในรูปสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เรียกว่า “อนุสัญญาเวียนนาเพื่อการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน” และเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2530 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ได้มีการประชุมระดับนานาชาติเพื่อให้มีการเจรจาต่อรองเพื่อร่างข้อกำหนดและมาตรการเพื่อยับยั้งการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและได้เรียกข้อกำหนดนี้ว่า “พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน” ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 16 กันยายนของทุกปีเป็นวันโอโซนสากล เพื่อเป็นการระลึกถึงการให้สัตยาบันต่อพิธีสารฉบับนี้ โดยหัวข้อสำคัญของวันโอโซนสากลปี พ.ศ. 2557 คือ “Ozone Layer Protection: The Mission Goes On”

สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงานตามพันธกรณีพิธีสารมอนทรีออลของประเทศไทยคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยได้มีการให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาเวียนนาและพิธีสารมอนทรีออลเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ทำให้ประเทศไทยมีหน้าที่ลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนให้เป็นไปตามพันธกรณีของพิธีสารฯ และเนื่องจากสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนมีค่า Global WarmingPotential ระหว่าง 146-10,900เท่าของ CO2 (ขึ้นกับชนิดของสารเคมี)

ดังนั้นการเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนจึงมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย 

เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นวันที่ประเทศภาคีสมาชิกของสหประชาชาติได้มีการให้สัตยาบันในอนุสัญญาเวียนนาและพิธีสารมอนทรีออล ครบทุกประเทศ (196 ประเทศ) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมฉบับแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จ

 


UVB หรือ รังสีอัลตราไวโอเลต ชนิดบี มีช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 315-280 นาโนเมตรผลกระทบของ UVB ขึ้นกับความเข้มและระยะเวลาที่ได้รับ หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง โรคตาต้อกระจก และยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศอีกด้วย