You are here

Public-Private Partnership

กองบรรณาธิการ

การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเม็ดเงินในการลงทุนมากมายมหาศาล การที่ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนแต่เพียงผู้เดียวอาจสร้างภาระทางการคลังโดยไม่จำเป็น

การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) เป็นรูปแบบการดำเนินงานที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้การลงทุนเกิดประสิทธิภาพ

ฉบับนี้ เราได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชนให้ข้อคิดต่อประเด็น Public-Private Partnership ฝั่งภาครัฐก็คือ ธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฝั่งภาคเอกชนคือ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

แต่ก่อนที่จะไปอ่านความคิดเห็นของทั้ง 2 ท่าน เชิญตรองดูข้อมูลในประเด็น Public-Private Partnership ผ่านบทความขนาดสั้น ที่มุ่งให้ความเข้าใจต่อเรื่องดังกล่าวโดย ชนัดดา สุสมบูรณ์

 

Part 1

การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนกับการพัฒนา วทน. ของประเทศ

ชนัดดา สุสมบูรณ์

การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว แต่เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลซึ่งหากเป็นการลงทุนจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่สามารถระดมเงินทุนได้เพียงพอ เนื่องจากข้อจำกัดในด้านการระดมทุนและการดำเนินนโยบายด้านการลงทุนที่ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพการคลังของประเทศด้วย

แหล่งการระดมทุนของภาครัฐ

  1. เงินกู้ต่างประเทศ  ได้แก่ เงินกู้จากสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศหรือรัฐบาลต่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) หรือรัฐบาลญี่ปุ่น โดยกู้ผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เป็นต้น
  2. เงินกู้ภายในประเทศ ทั้งการกู้ตรงจากธนาคารพาณิชย์ ภายในประเทศ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และการออกพันธบัตร
  3. การระดมทุนรูปแบบใหม่ๆ เช่น การเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) เป็นต้น

การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) เป็นรูปแบบการดำเนินงานที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยการดำเนินโครงการในด้านการให้บริการสาธารณะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและบริการโดยมุ่งเน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับต้นทุนมากกว่าภาครัฐจะเป็นเจ้าของหรือดำเนินการโดยภาครัฐเอง

PPP แบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ

Build-Transfer (BT) Build-Operate-Transfer (BOT) Build-Own-Operate-Transfer (BOOT)
หรือ
Build-Own-Operate (BOO)
การร่วมมือในลักษณะนี้ เปรียบเสมือนภาครัฐได้ว่าจ้างให้เอกชนเป็นผู้ก่อสร้างโครงการโดยภาครัฐจะเป็นผู้จัดสรรเงินทุนให้ภาคเอกชน และรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเองขณะที่ภาคเอกชนจะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้างและจัดสรรต้นทุนการก่อสร้าง ภาครัฐจะให้ภาคเอกชนทำการพัฒนาและดำเนินการโครงการด้วยนอกเหนือจากการก่อสร้างโดยภาคเอกชนจะทำสัญญากับภาครัฐเมื่อเอกชนก่อสร้างเสร็จและดำเนินงานไปจนถึงระยะเวลาหนึ่งแล้ว จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้ภาครัฐ ความร่วมมือนี้ นับได้ว่ามีความเป็นเอกชนสูงมากผู้พัฒนาโครงการจะเป็นเสมือนเจ้าของโครงการแทนที่จะเป็นภาครัฐโครงการจะดำเนินงานตามลักษณะของเอกชนและเมื่อโครงการสิ้นสุดลง โครงการจะถูกโอนไปให้ภาครัฐหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความตกลงของทั้งสองฝ่าย

 

ประโยชน์จากการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน

Public – ภาครัฐ Private – ภาคเอกชน People – ภาคประชาชน
สร้างความคุ้มค่าทางการเงินและเป็นการแบ่งหน้าที่การบริหารความเสี่ยงที่ได้รับจากความรู้ประสบการณ์จากภาคเอกชน และโอกาสในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภาคเอกชน เพิ่มโอกาสการทำธุรกิจให้กับภาคเอกชนในการลงทุนในรูปแบบ PPP ภาคเอกชนจะมีโอกาสเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประชาชนผู้รับบริการสามารถได้รับบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม

 

ตัวอย่างการร่วมลงทุนแบบ PPP ในโครงการระบบการขนส่งมวลชนทางราง

โครงการ การลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หน้าที่ของเอกชน การแบ่งผลประโยชน์ ความเป็นเจ้าของ
โครงการรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร

รัฐ: จัดหาที่ดิน 

เอกชน: ลงทุนก่อสร้างราง/สถานีงานระบบรถไฟฟ้า และจัดหารถ

เดินรถ บำรุงรักษา และพัฒนาพื้นที่สถานี 
เชิงพาณิชย์
PPP Net Cost: เอกชนได้รับรายได้จากค่าโดยสาร และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ส่วนอสังหาริมทรัพย์โอนให้รัฐเมื่อสร้างเสร็จ (BOT) และ ในส่วนอื่นเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐ เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน (BOT)
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

รัฐ: โครงสร้างพื้นฐานงานโยธา

เอกชน: งานระบบรถไฟฟ้า และตัวรถ

เดินรถ บำรุงรักษา และพัฒนาพื้นที่สถานี เชิงพาณิชย์

PPP Net Cost: เอกชนได้รับรายได้จาก ค่าโดยสาร และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และมีส่วนแบ่งรายได้กับรัฐตามสัญญา

ส่วนอสังหาริมทรัพย์โอนให้รัฐเมื่อสร้างเสร็จ (BOT) และ ในส่วนอื่นเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐ เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน (BOT)

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง

รัฐ: โครงสร้างพื้นฐานงานโยธา

เอกชน: งานระบบรถไฟฟ้า และตัวรถ

เดินรถ บำรุงรักษา และพัฒนาพื้นที่สถานี

เชิงพาณิชย์

PPP Gross Cost: เอกชนได้รับค่าจ้างการให้บริการ โดยรัฐรับรายได้จากค่าโดยสาร และการพัฒนาพื้นที่สถานีเชิงพาณิชย์

เอกชนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐทันทีที่ดำเนินการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ ก่อนที่จะเริ่มให้บริการ (BTO)

ในปี พ.ศ. 2556 ภาครัฐได้ออกกฎหมายสำคัญในการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 สรุปได้ดังนี้

  1. ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
  2. ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติเดิมตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการจนถึงการติดตามประเมินผลใหม่ โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือ จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดนโยบายการให้ เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และให้ความเห็นชอบหลักการโครงการที่จะให้เอกชนร่วมลงทุนและการดำเนินโครงการตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
  3. ให้มีแผนยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีระยะเวลาครั้งละ 5 ปี ซึ่งแผนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการ
  4. การเสนอโครงการคงหลักเกณฑ์ 1,000 ล้านบาท โดยเสนอโครงการผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

เอกสารอ้างอิง:

  1. บทวิเคราะห์ เรื่อง ความร่วมมือภาครัฐ – ภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP): นวัตกรรมการคลังแห่งอนาคต โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
  2. บทความเรื่อง การระดมทุนในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs) จาก วารสารหนี้สาธารณะ ฉบับที่ 3กรกฎาคม-กันยายน 2553
  3. เอกสารเรื่อง แนวทางให้เอกชนร่วมดำเนินการ การทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง โดย กระทรวงคมนาคม และ กระทรวงการคลัง
  4. เอกสารเรื่อง สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดย สศช.

 

Part 2

มอง PPP จากฝั่งภาครัฐ

ธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

จุดเริ่มต้นของการลงทุนในรูปแบบ PPP           

ความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ในรูปแบบการดำเนินงานที่ภาครัฐให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการในการให้บริการสาธารณะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและบริการ โดยที่มุ่งเน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับต้นทุนมากกว่าภาครัฐดำเนินการเอง ในอดีตหลักการการปกครองภาครัฐควรปกครองน้อยสุด ภาครัฐไม่ควรเข้ามาแทรกแซงด้านเศรษฐกิจ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ระบบการทำงานของประเทศไทยจะแยกไม่ออกระหว่างเรื่องการปกครองกับเรื่องเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จะมาจากเรื่องการเมืองการปกครอง เมื่อสังคมพัฒนาขึ้นจะใช้บทบาทภาครัฐเป็นตัวนำเพราะเชื่อว่าภาครัฐเข้มแข็ง แต่ในความเป็นจริงสังคมมีความหลากหลาย ระบบเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงแรกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 และ 2 ส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคน การสร้างเขื่อน การผลิตไฟฟ้า จึงเกิดหน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตขึ้น รวมทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 และ 4 ก็เช่นเดียวกัน เน้นการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและยกระดับการผลิต เร่งรัดการส่งออกและทดแทนสินค้านำเข้า ปรับงบลงทุนในโครงการก่อสร้างมาสนับสนุนการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากโครงการขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ เร่งบูรณะและปรับปรุงการบริหารทรัพยากรหลักของชาติ รวมทั้งการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ โดยเฉพาะที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้และแหล่งแร่ เร่งรัดการปฏิรูปที่ดิน จัดสรร แหล่งน้ำในประเทศ อนุรักษ์ทะเลหลวง สำรวจและพัฒนา แหล่งพลังงานในอ่าวไทยและภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเป็นการลงทุนที่ภาครัฐเป็นผู้ลงงบประมาณทั้งหมดโดยเน้นไปในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นต่อประชาชนเป็นส่วนใหญ่

เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 จึงเน้นบทบาทและระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการผลิตในสาขาเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาพลังงานและเร่งการส่งออก โดยภาครัฐจะทบทวนกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อลดการแทรกแซงและอำนวยความสะดวกต่อการพัฒนาธุรกิจของภาคเอกชน ซึ่งได้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) มีหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบายแนวทางแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางเศรษฐกิจ เริ่มเป็น PPP ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาประเทศมากขึ้น

นโยบายด้านการลงทุนรูปแบบ PPP อาจจะต้องมองเป็นนโยบายระดับชาติ แต่หน่วยงานในส่วนกลางอาจจะไม่ได้มองประเด็นที่เล็กๆ แต่มีความสำคัญสำหรับคนในท้องถิ่นชุมชน เช่น ชายฝั่งอันดามันเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่มีปัญหาเรื่องป่าชายเลนเพราะไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือภูเก็ตขยะเยอะมากแต่ไม่สามารถกำจัดได้ เช่น นำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน ต้องใช้ วทน. เป็นปัจจัยหลักในการนำ สำหรับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ร่วมถึงการพัฒนากำลังคนที่ภาครัฐลงทุน ห้องปฏิบัติการ ห้องทดสอบ/ทดลอง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถลงทุนได้ แต่ควรผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ตรงกับทิศทางของประเทศ เช่น ระบบรถไฟรางคู่ โจทย์ชัดเจน สิ่งเหล่านี้เราต้องเตรียมกำลังคน เตรียมธุรกิจไว้ให้พร้อมด้วย ต้องเป็นธุรกิจที่มีคุณภาพ PPP ภาครัฐและภาคเอกชนต้องมีการร่วมมือกัน จะทำอย่างไรให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้น เรื่องกำลังคนจะทำอย่างไร เช่น โครงการ talent mobility การส่งคนไปเรียนแล้วกลับมาเป็นนักวิจัย ภาครัฐทำแต่งบประมาณภาครัฐมีจำกัดอยากจะให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้น สัดส่วนภาคเอกชนควรเป็น 70 ต่อภาครัฐ 30 และหวังว่าในปี 2559 เป้าหมายการลงทุนน่าจะเป็น 1เปอร์เซ็นต์ของ GDP เรื่องมาตรการที่สนับสนุนต่างๆ ที่ภาครัฐต้องให้งบประมาณ เช่น การคืนภาษีจาก 200 เปอร์เซ็นต์ เป็น 300 1เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

 

ปัจจัยที่ทำให้การลงทุนในรูปแบบ PPP ประสบความสำเร็จ

ทิศทางการพัฒนาต้องชัดเจนในภาพรวม หรือจะพัฒนารายสาขาพืชเศรษฐกิจ ที่จะดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งกำลังคน องค์ความรู้ งานวิจัยต่อไปในอนาคต ภาคเอกชนจะพัฒนาได้เร็วในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี บริษัทใหญ่จะพัฒนาเทคโนโลยีของเขาเองได้ แต่ในส่วน SMEs จำเป็นต้องดูแลให้ดี เพราะอาจจะขยายใหญ่เป็นธุรกิจใหญ่ที่เป็นธุรกิจนำของประเทศได้ แต่ส่วนใหญ่นักธุรกิจต้องมีการบริหารจัดการ มีตลาดส่งออกด้านการพัฒนา วทน. เราจะมีการลงทุนสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคแต่ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาคอาจจะยังไม่มีความเข้มแข็ง เหมือนผู้ประกอบการในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคต้องเป็นผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีในการแข่งขันทางธุรกิจ เขาจึงต้องไปหาตัวช่วยจากภาครัฐ เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพต่างๆ ภาคเอกชนต้องลงทุน ภาครัฐต้องพร้อมที่จะออกไปทำงานให้ภาคเอกชน บริษัทใหญ่สามารถลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา หรือด้านกำลังคนเองได้ แต่ระดับ SMEs ไม่สามารถลงทุนได้  ธุรกิจภาคเอกชนที่มีอยู่ต้องมีคุณภาพ มีศักยภาพในการทำโครงการ ต้องมีทักษะในการบริหารจัดการ ต้องมีทักษะในด้านการตลาดที่ชัดเจนความพร้อมของภาครัฐบาลที่จะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือ สนับสนุนภาคเอกชนที่ชัดเจน ประเทศไทยต้องมีฐานด้าน วทน. ที่เข้มแข็งทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคที่กระจายมากกว่านี้ จะทำให้ถึงชุมชนและสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศได้ต้องมีองค์ความรู้ก่อนจึงนำเทคโนโลยีมาใช้ และต้องมีการเชื่อมโยง เสริมให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้เกิดสังคมอุดมปัญญาเกิดขึ้น จึงจะส่งผลให้การดำเนินงานในรูปแบบ PPP ประสบความสำเร็จได้

คนไทยหรือธุรกิจของคนไทย ยังไม่ใช้ศักยภาพตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องดึงศักยภาพของคนไทยออกมาใช้ให้เต็มที่มากกว่านี้

ปัจจัยที่ทำให้การลงทุนในรูปแบบ PPP ไม่ประสบความสำเร็จ  

คนไทยหรือธุรกิจของคนไทย ยังไม่ใช้ศักยภาพตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องดึงศักยภาพของคนไทยออกมาใช้ให้เต็มที่มากกว่านี้ คนไทยปรับตัวช้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปลี่ยนไปการทำงานที่ไม่ต่อเนื่องของภาครัฐบาล การติดขัดกับข้อกฎหมายที่ต้องไม่ทำอะไรที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนมากเกินไป

 

โครงการการลงทุนในรูปแบบ PPP ที่โดดเด่นและรูปแบบที่ดี

งานวิจัยที่ทำแล้วนำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้เลย เช่น ทำตำราเรียนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)และมีบริษัทที่รับพิมพ์ตำรานำไปพิมพ์ได้เลย ส่วนใหญ่ที่เห็นจะมีพวก transport infrastructure เช่น ทางด่วน ระบบราง โครงการร่วมลงทุนด้านระบบราง การสร้างรถไฟฟ้า ระบบคมนาคม โครงการที่เน้นงานวิจัยที่นำไปใช้ในภาคธุรกิจ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีโครงการทำร่วมกับภาคเอกชน และมีการนำผลการวิจัยไปใช้ชัดเจน เช่น งานวิจัยแป้งข้าวโพด มีดที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณี โดยใช้โรงงานเป็นห้องทดลอง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าได้ หรือบัญชีครัวเรือนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น

 

ในอนาคตการลงทุนรูปแบบ PPP

ต้องทำให้เกิดรูปแบบของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ไม่ควรใช้ระบบงบประมาณของภาครัฐอาจจะใช้วิธีขายตราสารหนี้ ออกพันธบัตร เป็นต้น ต้องปรับปรุงกลไกของภาครัฐที่จะสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น อาจต้องมีรูปแบบหน่วยงานที่ออกนอกระบบจากภาครัฐ หรือภาครัฐจะสนับสนุนการให้เงิน

 

การดำเนินการภาครัฐบาล

โครงการลงทุนต้องทำอย่างต่อเนื่องและชัดเจนในนโยบายระดับชาติและมุ่งเป้าว่าจะทำเรื่องอะไร ออกแบบสถาบันและสร้างบุคลากรมารองรับให้เพียงพอ ต้องปรับกฎหมายให้เอื้อประโยชน์และสนับสนุนกับภาคเอกชนมากขึ้น ต้องมีการจัดการเชิงสถาบันให้มากขึ้น

 

โครงการร่วมลงทุน PPP ภาครัฐควรมีมาตรการอย่างไรเพื่อให้เอกชนลงทุนด้าน วทน.ให้มากขึ้น

ต้องหาที่ปรึกษาให้ภาคเอกชนในการผลิตสินค้าและบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อแข่งขันกับตลาดโลกได้ยิ่งขึ้น ในปัจจุบันนี้มีสถาบันเฉพาะทางมากมาย เช่น สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังไม่สามารถสร้างเครือข่ายร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านนั้นๆ ได้ จึงทำให้ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือกับภาคเอกชนได้เต็มที่ ต้องมีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) ที่รวบรวมงานด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์กับภาคเอกชนไว้และมีเครือข่ายไปยังสถาบันต่างๆ เฉพาะด้านนั้นๆ มีฐานด้าน วทน. ที่เข้มแข็งทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

และเมื่อภาคเอกชนต้องลงทุนซึ่งต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ ก็ต้องพร้อมที่จะสนับสนุนและเสริมภาคเอกชน เพื่อให้คำปรึกษากับภาคเอกชน มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องเปิดตัวให้ภาคเอกชนเข้ามาปรึกษา และนำงานวิจัยที่ทำอยู่ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพสินค้าและบริการให้มากขึ้น ต้องปรับกฎระเบียบในการทำงานร่วมกันของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เป็นการมองทิศทางร่วมกันและแบ่งงานกันทำ

เช่น Talent Mobility ที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กำลังผลักดันให้เป็นรูปธรรมอยู่ในขณะนี้ ภาครัฐลงทุนกับมหาวิทยาลัยไปส่วนหนึ่งแล้ว และต้องใช้ให้คุ้มค่าในเรื่องศักยภาพของนักวิจัยให้มากกว่านี้ ต้องลงทุนในการวิจัยให้มากขึ้น เพราะถ้ามีการวิจัยเพิ่มขึ้นและได้รับการยกย่องจะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น ต้องใช้องค์ความรู้ให้เป็นประโยชน์ตอบโจทย์ประเทศให้ได้ และเน้นเรื่องการวิจัยมุ่งเป้ามากขึ้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ได้มีการกล่าวถึงการใช้องค์ความรู้ ด้าน วทน. มาใช้เป็นปัจจัยหลักในการบริหารประเทศ  ต้องนำงานวิจัยต่างๆ มาต่อยอดในเชิงธุรกิจมากกว่าที่เป็นอยู่

Part 3

มอง PPP จากฝั่งภาคเอกชน

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

ความคิดเห็นเรื่องการลงทุนในรูปแบบ PPP

เห็นด้วยกับการลงทุนในรูปแบบ PPP เพราะจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่  โดยการร่วมสนับสนุนของทั้ง 2 ภาคส่วน คือ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งด้านเงินทุน ภาพลักษณ์ และเสริมเพิ่มความเชื่อมั่นให้ประเทศไทยยิ่งขึ้น จึงทำให้โครงการทั้งหลายมีโอกาสที่จะดำเนินการบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมาย

 

ปัจจัยที่ทำให้การลงทุนในรูปแบบ PPP ประสบความสำเร็จ

ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ ต้องมีการทำงานอย่างโปร่งใส และมีการทำประชาพิจารณ์ในขั้นต้นก่อนการลงทุนที่ชัดเจน ประกอบด้วยผู้ที่เข้ามาลงทุนในส่วนภาคเอกชนต้องมีมาตรฐาน มีความเชี่ยวชาญเพียงพอในการร่วมกันดำเนินงานกับภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาดูแลต้องเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงและมีความเข้าใจในโครงการที่ร่วมทำอย่างชัดเจน

ปัจจัยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในรูปแบบ PPP มองในเรื่องความไม่โปร่งใสในการร่วมลงทุน

ปัจจัยที่ทำให้การลงทุนในรูปแบบ PPP ไม่ประสบความสำเร็จ

ปัจจัยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในรูปแบบ PPP มองในเรื่องความไม่โปร่งใสในการร่วมลงทุน ทำให้การดูแลโครงการเห็นผลไม่เป็นรูปธรรม ภาครัฐขาดความใส่ใจ และมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบ สัญญา และกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำโครงการ ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ในการทำโครงการต่างๆ ในอนาคต การให้ความสำคัญเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม ขาดความชำนาญการที่เกี่ยวกับในเนื้อหาโครงการ ต้องมีการคำนึงถึงการยอมรับของภาคประชาสังคมเป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ทำความเข้าใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถ้าไม่เป็นที่ยอมรับของหลายๆ ฝ่ายอาจจะเป็นอุปสรรคของโครงการและทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จได้

 

โครงการการลงทุนในรูปแบบ PPP ที่โดดเด่นและรูปแบบที่ดี

โครงการทางด่วน หรือรถไฟฟ้า และระบบคมนาคม ที่กำลังดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จได้ดี

 

ท่านคิดว่าควรปรับปรุงในด้านใดของการลงทุนรูปแบบ PPP ในอนาคต

ควรปรับปรุงด้านความชัดเจนของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นการทำโครงการ ลักษณะการทำสัญญา ผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐและเอกชน การดำเนินงานต่างๆ ที่สามารถทำให้โครงการเกิดได้ ร่วมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องยอมรับ ทุกขั้นตอนการดำเนินโครงการต้องสามารถตรวจสอบได้ และมีความโปร่งใสของโครงการ

 

โครงการร่วมลงทุน PPP ที่ท่านคิดว่าภาคเอกชนควรเข้าไปร่วมสนับสนุนกับภาครัฐ

โครงการลงทุนที่ภาคเอกชนจะมาร่วมลงทุนได้เป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนมาก เช่น ระบบ
โลจิสติกส์ ระบบขนส่งทางราง ระบบการจัดการน้ำ การลงทุนทางอากาศ เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันข้อเสนอโครงการของภาครัฐต้องมีความโปร่งใส

 

โครงการร่วมลงทุน PPP ภาคเอกชนลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ให้มากขึ้นได้อย่างไร

การลงทุนด้าน วทน. ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนเรื่องการใช้ วทน. กับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ ภาครัฐต้องมีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนการให้องค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงต้องมีการเน้นการวิจัยและพัฒนาจากทางภาครัฐ ภาครัฐควรเป็นผู้เริ่มลงทุนในระยะแรกและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ร่วมสนับสนุนและเสริมความแข็งแกร่งให้มากขึ้น ต้องมีการมองภาพร่วมกัน

กล่าวคือมีการคิดโครงการร่วมกันทั้ง 2 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มองผลลัพธ์ไปพร้อมๆ กัน และต้องเสริมโครงสร้างด้าน วทน. ให้แข็งแกร่ง ต้องส่งเสริมและพัฒนาภาคเอกชนให้มีศักยภาพ อีกทั้งการเดินหน้าทุกมิติในภาคเศรษฐกิจต้องมีภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมทุกมิติ ภาครัฐควรให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นการกระจายการทำงาน อาทิ การให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะทำงานในแต่ละกระทรวง เพื่อให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่มากยิ่งขึ้น ควรมีการนำงานวิจัยที่ได้รวบรวมไว้เป็นศูนย์รวม หรือศูนย์กลางการค้นคว้างานวิจัย และเพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากงานวิจัยให้มากขึ้น