เกษตรกรรมแนวดิ่ง ปากท้องของมวลมนุษยชาติ
มณีรัตน์ ศรีปริวาทิน
จากความเชื่อที่ว่า “อีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มจาก 6.2 พันล้านคนไปเป็น 9.5 พันล้านคน แต่ในขณะที่ปัจจุบันเรากลับใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเกษตรไปแล้วถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถึงตอนนั้นการเกษตรแบบเดิมจะเลี้ยงคนทั้งโลกได้อย่างไร” จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการทำเกษตรกรรมแนวดิ่ง (Vertical Farming) ของ Prof. Dickson Despommier แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เพราะการทำเกษตรในปัจจุบันนั้นอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมือง นั่นหมายถึงต้องมีการขนส่ง ทำให้ต้องใช้พลังงานมาก รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
การย้ายไร่นามาอยู่บนอาคารในเมืองเป็นการผลิตที่ใกล้ผู้บริโภคและสามารถควบคุมให้มีการรบกวนต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด อีกทั้งจะเกิดแรงงานในภาคการเกษตรรูปแบบใหม่ โดยการเกษตรแบบแนวดิ่งกลางเมืองใหญ่จะผลิตอาหารที่สังคมชนบทเคยผลิตด้วยวิธีการที่ควบคุม พืชผลจะไม่ถูกรบกวนโดยสภาพอากาศ และยังช่วยลดภาวะโลกร้อนเนื่องจากไม่ต้องมีการขนส่งผลผลิตจากชนบทเข้ามาสู่เมือง เมื่อพื้นที่การทำเกษตรแนวราบมีความจำเป็นน้อยลง เราจึงสามารถปล่อยพื้นที่ดังกล่าวกลับคืนสู่ธรรมชาติด้วยการสร้างพื้นที่ป่าบนผืนเกษตรที่ทิ้งแล้ว เพื่อให้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศต่อไป
เทคโนโลยีที่ใช้เพื่อทำฟาร์มในอาคารนั้นมีตั้งแต่การติดแผง Solar Cell ที่อยู่เหนือยอดตึกซึ่งสามารถหมุนตามดวงอาทิตย์ได้ รวมไปถึงกังหันลมที่ช่วยดักลมเพื่อนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า พืชผักเหลือทิ้งหรือมูลสัตว์ที่เลี้ยงในอาคารจะถูกนำมาทำพลังงานชีวมวล รูปทรงของอาคารถูกออกแบบให้เป็นทรงกระบอกเพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามาอย่างมีประสิทธิภาพ กระจกจะถูกเคลือบด้วย Nano Titanium เพื่อให้สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ โดยอาคารจะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ Smart Farm ซึ่งจะทำให้อาคารนี้ทำการเพาะปลูกพืชได้ 24 ชม. ทั้งปี พืชที่ปลูกนั้นจะไม่ใช้ดิน แต่จะปลูกโดยการจุ่มรากในน้ำหรืออากาศ แล้วสเปรย์ความชื้นกับสารอาหารให้ จึงทำให้สามารถเรียงแปลงปลูกซ้อนๆ กันได้ และน้ำที่เกิดจากการคายน้ำของพืชจะมีความบริสุทธิ์สูง เราสามารถดักจับความชื้อแล้วนำน้ำมารวมกันบรรจุขวดขายได้ โดยน้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมในอาคารนี้ สามารถกรองและนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อรดน้ำให้พืชได้
การออกแบบทั้งหมดที่กล่าวมาอาจฟังแล้วดูเหมือนความเพ้อฝัน แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป เพราะเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีการลงนามข้อตกลงระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง แห่งสิงคโปร์ (NTU) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมชั้นนำของเอเชียกับบริษัทแพลนทากอน (Plantagon) ซึ่งเป็นบริษัทที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรกรรมแนวดิ่ง เกษตรกรรมในเมือง โดยมีเป้าหมายจะให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีเกษตรแนวดิ่งและเกษตรในเมืองของเอเชีย
หากการเกษตรแนวดิ่งในไทยเกิดขึ้นจริงบ้าง งานนี้เกษตรกรไม่ต้องง้อน้ำฝนจากธรรมชาติอีกต่อไป อีกทั้งตะไคร้คงไม่ต้องปักอีกแล้ว เพราะได้ป่าคืนน้ำไม่ท่วมแน่นอน เอ้า รอลุ้นกันอีกทีว่าตื่นจากความฝันแล้วความจริงจะเป็นยังไงต่อไป...เรื่องดีๆ แบบนี้ขอเอาใจช่วย