ปราบเซลล์มะเร็งร้ายด้วยนาโนเทคโนโลยี
เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตที่เร็วผิดปกติ เกิดเป็นก้อนเนื้อร้าย เบียดบังการทำงานของเซลล์ปกติ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการยึดเกาะกับเซลล์ข้างเคียงต่ำ จึงหลุดเข้าสู่กระแสเลือด และระบบน้ำเหลือง จนเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ บางครั้งได้กระจายไปยังอวัยวะที่ยากแก่การตรวจพบและรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าโรคชนิดอื่นๆ
Out: การรักษามะเร็งแบบดั้งเดิมที่ไม่มีเป้าจำเพาะ
การรักษามะเร็งนั้นแรกเริ่มเกิดขึ้นที่อาณาจักรเปอร์เซีย ก่อนคริสต์ศักราชประมาณ 500 ปี ในสมัยของพระราชินีอทอสสา โดยมีการรักษามะเร็งเต้านมในทาสของพระองค์ด้วยวิธีการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก (Radical Surgery) ซึ่งยังคงเป็นวิธีที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันสำหรับรักษามะเร็งในระยะเริ่มต้น แต่ยังคงไม่สามารถใช้ได้กับมะเร็งระยะแพร่กระจาย ต่อมาในปีคริสต์ศักราช 1902 มารี คูรี ได้ค้นพบวิธีการกำจัดเซลล์มะเร็งด้วยรังสีจากธาตุเรเดียม โดยรังสีดังกล่าวสามารถทำลายดีเอ็นเอซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของเซลล์ทุกชนิด ทำให้เซลล์ตายไปในที่สุด (Radiotherapy) โดยเซลล์ปกติจะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ทำให้คนไข้สามารถพื้นตัวเป็นปกติได้ในที่สุด นอกจากการรักษามะเร็งแบบการผ่าตัด และการฉายรังสีเเล้ว ยังมีวิธีการรักษาอีกแบบหนึ่ง นั่นคือการใช้ยา (Chemotherapy) โดยยารักษาโรคมะเร็งมีทั้ง สารโมเลกุลขนาดเล็กที่ผ่านเข้าสู่เซลล์มะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็งจากภายใน หรือโมเลกุลของแอนติบอดีที่ไปจับบนผนังของเซลล์มะเร็ง ก่อให้เกิดกลไกการทำลายเซลล์มะเร็งจากภายนอกเซลล์ ยารักษามะเร็งตัวแรกที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเป็นแก๊สพิษที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำลายทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งเช่นเดียวกัน สรุปได้ว่าการรักษาโรคมะเร็งแบบดั้งเดิมยังคงได้ผลไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งเป้าหมาย ก่อให้เกิดอากาข้างเคียงกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา
รูปที่ 1: แสดงการผ่าตัดมะเร็งเต้านมในสมัยของราชินีอทอสสา และการฉายแสงแบบดั้งเดิมที่ยังคงใช้ในปัจจุบัน
In: การรักษามะเร็งแบบล็อคเป้าหมายด้วยนาโนเทคโนโลยี
เป้าหมายสูงสุดในการรักษามะเร็งคือ สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งในระยะเริ่มต้น และระยะแพร่กระจาย อีกทั้งยังต้องไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ซึ่งการรักษาแบบนี้ถูกให้คำจำกัดความใหม่ว่า เป็นการรักษามะเร็งแบบล็อคเป้าหมาย (Targeted Cancer Therapy) โดยการใช้นาโนเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา สำหรับการรักษามะเร็งแบบผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดก้อนมะเร็งในสมอง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ขอบเขตที่แน่นอนของเซลล์มะเร็ง เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเอาส่วนของเซลล์ปกติออกไป ในปัจจุบันจึงได้มีการใช้วัสดุนาโน ซึ่งประกอบด้วยชั้นของอนุภาคทองและอนุภาคที่ให้สัญญาณรามานห่อหุ้มด้วยชั้นของซิลิกา และเคลือบด้วยแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็งในสมองอีกชั้นหนึ่ง เมื่อฉีดอนุภาคนาโนดังกล่าวเข้าไปบริเวณก้อนมะเร็ง อนุภาคนาโนจะเข้าไปจับเฉพาะเซลล์มะเร็งแล้วส่งสัญญาณบอกขอบเขต ทำให้แพทย์ผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปที่ 2: แสดงการรักษามะเร็งแบบฉายรังสี และล็อคเป้าด้วยอนุภาคนาโน
ในการรักษาแบบฉายรังสีในปัจจุบันมีการใช้อนุภาคนาโนชนิดพิเศษติดกับแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็งฉีดเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย อนุภาคนาโนจะเดินทางไปจับกับเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย และเมื่ออนุภาคนาโนได้รับการฉายรังสี จะเกิดการกระตุ้นให้ขยายสัญญาณของรังสีในบริเวณนั้นมากกว่าที่อื่น เกิดการทำลายเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น ลดอาการแทรกซ้อนจากการฉายรังสี ตัวอย่างผลิตภัณท์อนุภาคนาโนดังกล่าวได้แก่ NanoXray ของบริษัท Nanobiotix นอกจากนี้นาโนเทคโนโลยี ได้รับการพัฒนาไปถึงขั้นการห่อหุ้มยาด้วยอนุภาคนาโน และติดด้วยแอนติบอดี หรือโมเลกุลหลากหลายชนิด เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ระยะของเซลล์มะเร็ง และรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งอนุภาคนาโนดังกล่าวยังสามารถเป็นเซ็นเซอร์ส่งข้อมูลผลการรักษา กลับมายังแพทย์และผู้รับการรักษาได้อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง