You are here

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาพลังงานชีวมวล

 

วิกฤติด้านพลังงานเป็นปัญหาที่มีความสำคัญอย่างมากในระดับโลก และภูมิภาค ส่งผลให้ทุกประเทศที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีต่างทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อค้นหาวิธีผลิตพลังงานรูปแบบใหม่ที่สามารถทดแทนแหล่งพลังงานธรรมชาติที่คาดว่ากำลังจะหมดไปในอนาคต เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจจากนักวิจัยด้านพลังงานทั่วโลกเนื่องจากพลังงานหมุนเวียนเป็นอันเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ปลดปล่อยมลพิษจานวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ จึงเป็นแหล่งพลังงานที่มีความเหมาะสมต่อการลดก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุที่ทาให้เกิดภาวะโลกร้อน นอกจากนี้การผลิตพลังงานหมุนเวียนยังใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด เช่น แสงแดด ลม และน้ำ เป็นต้น นอกจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวแล้ว พลังงานหมุนเวียนที่ได้จากการแปรรูปชีวมวลไปเป็นพลังงานที่เรียกว่า พลังงานชีวมวล ก็มีศักยภาพที่จะสามารถใช้ทดแทนพลังงานธรรมชาติได้เช่นกัน 


ชีวมวล หมายถึง สิ่งที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตหรือสารอินทรีย์ที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติและสามารถเปลี่ยนมาผลิตพลังงานได้ โดยรวมถึง วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรต่างๆ เช่น แกลบ ฟางข้าว กากอ้อย ใบอ้อย ทะลายปาล์ม กะลามะพร้าว เปลือกไม้ ขี้เลื่อย เศษไม้ มูลสัตว์ ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และของเสียหรือขยะจากชุมชน

พลังงานชีวมวล หรือ พลังงานชีวภาพ (Biomass Energy or Bioenergy) หมายถึง พลังงานที่สะสมอยู่ในชีวมวลถูกแปรรูปเป็นพลังงานขั้นสุดท้ายเพื่อใช้ประโยชน์ อยู่ในรูปของ ไฟฟ้าและความร้อนจากพลังงานชีวมวล (Electricity and Heat from biomass) ก๊าซชีวภาพ (Biogas) เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels)


ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประชากรส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักตามลักษณะที่เหมาะสมของภูมิประเทศ ส่งผลให้เกิดของเหลือทางการเกษตรที่มีศักยภาพจะนำมาผลิตพลังงานชีวมวลเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยยังพัฒนาการใช้พลังงานชีวมวลได้อย่างจำกัด ถึงประเทศไทยจะมีความมั่นคงด้านอาหารแต่ยังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานอันเนื่องมาจากการพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากเกินไป ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของแหล่งพลังงานชีวมวลที่สำคัญยังขาดความรู้ ความเข้าใจในประโยชน์ของวัสดุเกษตรเหลือใช้ที่สามารถนำไปผลิตเป็นพลังงาน อีกทั้งยังขาดนโยบายของประเทศที่ชัดเจน

ดังนั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) ที่ได้จัดทำขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่ภาคเกษตรกำลังเผชิญในหลายมิติ ทั้งในเชิงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสถานะความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานชีวภาพของประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งของภาคเกษตรให้ลดลงได้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ จึงได้กำหนดให้มี “ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหาร และพลังงาน” ด้วยจุดประสงค์ ดังนี้

  • เพื่อให้ภาคเกษตรเป็นฐานการผลิตที่มีความมั่นคงและมีการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตสินค้าเกษตร อาหารและพลังงานที่มีมูลค่าเพิ่ม มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาดในระดับราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารเป็นลำดับแรก
  • เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้เกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนครัวเรือนและองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
  • เพื่อส่งเสริมชุมชนและเกษตรกรให้มีส่วนร่วมและสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงสามารถพึ่งพาตนเองได้

ในมิติของการพัฒนาพลังงานชีวมวลจากยุทธศาสตร์ข้างต้นนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่ผลิตได้ในชุมชนและที่เหลือใช้จากการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนใช้ในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน ทั้งจากวัตถุดิบเหลือใช้จากครัวเรือนและการเกษตร อาทิ มูลสัตว์ ขยะ ฟาง แกลบ เศษไม้ ตลอดจนถ่ายทอดวิธีการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงให้แก่ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระดับชุมชนและท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมถึงลดมลภาวะแก่ชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทนที่ไม่ใช่อาหารและมีความเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น เช่น สบู่ดำ เป็นต้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ยังกำหนดแนวทางให้ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานจากพืชพลังงาน โดยการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชพลังงานที่เหมาะสมกับประเทศและให้ผลผลิตสูง และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น รวมทั้งศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตพลังงานจากพืชเพื่อให้สามารถผลิตพลังงานได้มากขึ้นในปริมาณพืชเท่ากัน ตลอดจนส่งเสริมการวิจัยพืชพลังงานอื่นที่ไม่ได้ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร เพื่อลดปัญหาภาวะขาดแคลนในพืชที่ใช้เป็นทั้งวัตถุดิบในการผลิตอาหารและพลังงาน อีกทั้งจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นทั้งอาหารและพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารก่อน เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นต้น เพื่อให้มีการผลิตและการใช้อย่างเป็นระบบที่เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ

กระทรวงพลังงาน ก็ได้กำหนด “นโยบายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564)”  โดยในสัดส่วนนี้ประกอบไปด้วยเป้าหมายการเพิ่มพลังงานชีวมวลที่เป็นสัดส่วนสำคัญในพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกทั้งหมดที่ได้กำหนดไว้ โดยมุ่งเน้นไปยังการใช้ชีวมวลเพื่อผลิตความร้อน ไฟฟ้าและใช้ในภาคขนส่งเป็นสำคัญ 

สอดคล้องไปกับ นโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2564) จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)

  • ยุทธศาสตร์ที่ 3  การเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศด้วย วทน.
    • กลยุทธ์ที่ 3.2 การส่งเสริมการพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก วทน. เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation)
      • มาตรการที่ 3.2.2  การพัฒนา วทน. เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยพลังงานทดแทนและพลังงานรูปแบบใหม่

อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานชีวมวล ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะการขาดความรู้ ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีที่ชัดเจน ขาดทิศทางการพัฒนางานวิจัยที่ชัดเจน ปัญหาด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายเทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูง ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตลาดรองรับมีขนาดจำกัด มีการแข่งขันใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เป็นแหล่งอาหาร ขาดผู้ประกอบการและผู้ใช้เทคโนโลยีที่มีความรู้ความชำนาญในเทคโนโลยีและการลงทุนที่เกี่ยวข้อง ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลยังไม่มาก และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่พอ เป็นต้น

เพื่อการแก้ปัญหาข้างต้น นักวางแผนนโยบายจำเป็นจะต้องอาศัยการวิเคราะห์สถานการณ์และการเสนอแนะมาตรการด้านเทคโนโลยี (Technological area) เน้นการวางแผนการพัฒนา วทน. และด้านที่ไม่ใช่เทคโนโลยี (Non-technological area) ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้ กำลังคนเป็นสาคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาและลงทุนใน วทน. ที่เหมาะสมกับแหล่งชีวมวลและศักยภาพของเทคโนโลยีในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม พบว่ารูปแบบข้อมูลเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลยังกระจัดกระจาย และไม่มีมาตรฐานรูปแบบการเก็บข้อมูลที่เป็นสากล ทำให้ไม่สามารถใช้ข้อมูลเพื่อประเมินศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ขาดเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน

ในการนี้ สวทน. นำโดยฝ่ายพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นที่ศักยภาพและความสำคัญในการผลักดันให้เทคโนโลยีพลังงานชีวมวลได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เพื่อจัดทำการศึกษา และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนนโยบาย วทน. พลังงานชีวมวลของประเทศไทย และเพื่อรองรับต่อการเปิดประชาคมอาเซียน

Thailand Bioenergy Technology Status Report 2013 (รายงานสถานภาพเทคโนโลยีพลังงานชีวมวล ปี 2556) เป็นหนึ่งในผลงานที่จัดทำร่วมกันระหว่าง สวทน. และ JGSEE โดยรายงานได้จัดทำด้วยจุดประสงค์เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสถานภาพเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลที่มีหลากหลายให้เป็นประเภทหมวดหมู่ชัดเจน และมีข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักวิจัย นักศึกษา และนักจัดทำนโยบาย ให้ทราบถึงภาพรวมและช่องว่างทางเทคโนโลยีในการพัฒนาและผลักดันพลังงานชีวมวลต่อไป

ศักยภาพชีวมวลของประเทศไทยปี 2555

ชนิด

หน่วย

 ปริมาณ
ชีวมวล

ศักยภาพในการผลิตพลังงาน (ktoe)

เศษวัสดุชีวมวลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อน

ล้านตัน/ปี

24.15

9,231.82

  ชีวมวลที่เหลือทิ้งในไร่นา

17.23

6,570.54

  เศษชีวมวลที่ได้จากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร

5.77

2,196.70

  เศษชีวมวลที่ได้จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

1.15

464.57

ชีวมวลเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ

ล้าน ลบ.ม./ปี

11,749.02

6,560.82

  มูลสัตว์

733.68

364.72

  ขยะมูลฝอย

582.25

268.77

  น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม

 10,433.09

5,927.33

ชีวมวลเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ

ล้านลิตร/ปี

1,525.70

1,020.24

  เอธานอล

642.40

323.52

  ไบโอดีเซล

883.30

696.72

รวม

 

 

16,812.88

ที่มา: Bioenergy Technology Status in Thailand 2013

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อมูลสถิติของศักยภาพชีวมวลที่มีสูงนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานชีวมวล และสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าในเทคโนโลยีเพื่อผลิตพลังงานชีวมวลบางประเภทยังมีช่องว่างของการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงชีวภาพที่ประเทศไทยยังมีสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ห่างจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี พ.ศ. 2564 โดยสถานภาพของเทคโนโลยีแต่ละประเภทสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน Thailand Bioenergy Technology Status Report 2013 (http://www.sti.or.th)

 

ASEAN Bioenergy Technology Status Report 2014 (รายงานสถานภาพเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลในอาเซียน ปี 2557) เป็นอีกหนึ่งในรายงานที่จัดทำร่วมกันระหว่าง สวทน. และ JGSEE โดยรายงานได้จัดทำด้วยจุดประสงค์เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสถานภาพเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักวิจัย นักศึกษา และผู้ที่สนใจให้ทราบถึงภาพรวมของเทคโนโลยีพลังงานชีวมวล และความสนใจในการใช้พลังงานชีวมวลของแต่ละประเทศ ที่จะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมต่อการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 อันใกล้จะถึงนี้  

จากรายงานการศึกษาทั้ง 2 นี้ ทำให้ทราบว่า ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเองที่มีศักยภาพและความสนใจในพลังงานชีวมวล แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความสนใจที่จะผลักดันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลเช่นกัน ดังปรากฏในเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนของประเทศต่างๆ ในอาเซียน 

เป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนของประเทศต่างๆ ในอาเซียน

ประเทศ

นโยบายและเป้าหมาย

กัมพูชา

  1. กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 15 ในปี พ.ศ. 2558
  2. เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด 1.5 MW ชีวมวล 87 kW พลังน้ำขนาดจิ๋ว 500 kW
  3. ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพมีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง เพื่อนำไปผลิตพลังงาน

ไทย

  1. กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกไว้ที่ร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2555 – 2564)

บรูไน

  1. มีนโยบายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 15 ในปี พ.ศ. 2558 แต่สำหรับพลังงาน ชีวมวลเป็นแผนระยะยาวเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านพื้นที่เกษตร

พม่า

  1. กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนร้อยละ 15-20 ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดภายใน ปี พ.ศ. 2563 (ปัจจุบันร้อยละ 70 ของการใช้พลังงานทั้งหมดมาจากไฟฟ้าพลังงานน้ำ และการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพขั้นต้น) เอทานอลมีกำลังการผลิต 2.3 ล้านแกลลอน/ปี (10.45 ล้านลิตร/ปี)

ฟิลิปปินส์

  1. กำหนดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2573 (เทียบกับปี พ.ศ. 2543) โดยให้ความสำคัญกับพลังงานน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานลม พลังงานชีวมวล มีการกำหนดเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนเอทานอลในน้ำมันเบนซินเป็น E20 และไบโอดีเซลเป็น B20 ภายในปี พ.ศ. 2573

มาเลเซีย

  1. รัฐบาลมาเลเซียกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อย 17 ในปี พ.ศ. 2573
  2. ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ กำหนดให้หน่วยงานรัฐใช้ไบโอดีเซล B5 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 และกระจายการใช้ไบโอดีเซล B5 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2556 และมีการกำหนดมาตรการสนับสนุนการส่งออกไปยังยุโรป

ลาว

  1. กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2568  และเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นร้อยละ 10 ของเชื้อเพลิงทั้งหมดที่ใช้ในภาคขนส่ง ประกอบด้วยเอทานอล 150 ล้านลิตร/ปี และไบโอดีเซล 300 ล้านลิตร/ปี รวมถึงสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชน
  2. เป้าหมายการใช้เอทานอล 150 ล้านลิตรในปี พ.ศ. 2568

เวียดนาม

  1. แผนพลังงาน “Strategy on National Energy Development up to 2025, with vision to 2050” กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 5 ในปี พ.ศ. 2568 และร้อยละ 11 ในปี พ.ศ. 2593 และมีเป้าหมายผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพให้ได้ 1.8 ล้านตันในปี พ.ศ. 2578 คิดเป็นร้อยละ 5 ของการใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซลทั้งหมด และเพิ่มเป็นร้อยละ 7 ในปี พ.ศ. 2573

สิงคโปร์

  1. สิงคโปร์วางแผนที่จะใช้ถ่านหินและพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น ส่วนในระยะยาวสิงคโปร์กำลังศึกษาเรื่องการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนั้นยังมีการนำระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grids) มาใช้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

อินโดนีเซีย

  1. (vision 25/25) กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 25 ในปี พ.ศ. 2568 มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังน้ำ แสงอาทิตย์ และลม และกำหนดให้ใช้พลังงานชีวมวลทั้งในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้สัดส่วนการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 และไบโอดีเซลร้อยละ 20 ของปริมาณการใช้ทั้งหมด

ที่มา: รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการขับเคลื่อนนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงานชีวมวลเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปิดประชาคมอาเซียน 2557

โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวมวลจากโครงการขับเคลื่อนนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงานชีวมวลเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปิดประชาคมอาเซียน ได้ทำการวิเคราะห์ให้ครอบคลุมในทุกมิติภายใต้กรอบของแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (วทน.) เพื่อมุ่งเน้นตอบเป้าหมายแผนพลังงานพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศไทย รวมถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยต่อการเปิดประชาคมอาเซียน

หัวข้อ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1. ศักยภาพชีวมวล

  • ส่งเสริมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลของประเทศและภูมิภาคที่เชื่อถือได้ ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงพลังงาน
  • การประเมินศักยภาพของชีวมวลโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • การพัฒนาใช้วิธีการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อประเมินศักยภาพชีวมวลในพื้นที่ต่างๆ

2. เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตชีวมวล

  • ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านการเพิ่มผลผลผิตชีวมวล เช่น โครงการวิจัยเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืชพลังงานของภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก การจัดตั้งโครงการร่วมทดสอบพันธุ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน (Multilocation test)
  • จัดตั้งเครือข่ายงานวิจัยในแต่ละด้านที่สำคัญ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานวิจัยร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังประเทศที่มีความต้องการ
  • ผลักดันให้เกิดโครงการความร่วมวิจัยระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ด้านการพัฒนาเครื่องจักรกลและเซนเซอร์เพื่อใช้การทำเกษตรแม่นยำ หรือเกษตรอัจฉริยะ
  • การเป็นศูนย์กลางการพัฒนากำลังคนของภูมิภาค (regional training hub)

3. เทคโนโลยีกระบวนการทางความร้อนเคมีเพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อน

  • ส่งเสริมงานวิจัยด้านกระบวนการทางความร้อนเคมี
  • ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตเทคโนโลยีและอุปกรณ์ขึ้นเองในประเทศ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของชีวมวลที่มีในประเทศ และยังสามารถผลิตเพื่อส่งออกได้ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาควรมีความร่วมมือกันตั้งแต่เริ่มงานวิจัยและพัฒนาร่วมกันไปยังระดับเชิงพาณิชย์โดยมีรัฐคอยสนับสนุนทั้งงบประมาณและบังคับใช้นโยบายอย่างต่อเนื่อง
  • จัดตั้ง Consortium รวมผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น เครื่องกล เคมี ไฟฟ้า เครื่องมือวัด เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชีวมวล ให้ขึ้นสู่ระดับ Commercial และ large scale ได้
  • พัฒนาศักยภาพทางเทคนิคของบุคลากรโดยส่งเสริมการทำวิจัย การถ่ายทอดความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น
  • รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีเป้าหมายพลังงานและการส่งเสริมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่มั่นคงและต่อเนื่อง นอกจากนี้นโยบายการส่งเสริมก็ควรมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย
  • รัฐควรช่วยในเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลให้มีความสะดวกรวดเร็วและลดปัญหาต่างๆ โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดตั้ง one-stop-service สำหรับบริการและงานเอกสารในการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล  การวางแผนระบบสายส่งของประเทศเพื่อลดปัญหาอันเกิดจากโรงไฟฟ้าที่สร้างแล้วแต่ไม่สามารถขายไฟเข้าสายส่งได้
  • จัดตั้งเครือข่ายงานวิจัยในแต่ละด้านที่สำคัญ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานวิจัยร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังประเทศที่มีความต้องการ
  • รัฐควรจัดทำ agricultural zoning เพื่อลดการแก่งแย่งที่ดินเพาะปลูกระหว่างพืชเพื่ออาหารและพืชเพื่อพลังงาน

4. เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงเหลว

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการผลิตเอธานอล

  • รัฐควรกำหนดแผนการผลิตและแผนส่งเสริมการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังที่สมดุลกับความต้องการเพื่อรักษาระดับราคาของวัตถุดิบไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไปรวมทั้งเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านพื้นที่เพาะปลูก
  • ส่งเสริมให้โรงงานน้ำตาลและแป้งมันสำปะหลังลงทุนผลิตเอทานอลโดยตั้งโรงงานในบริเวณเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยงด้านการลงทุนเพราะจะสามารถปรับปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลเอทานอลและไฟฟ้าที่จะขายให้รัฐให้เหมาะสมกับภาวะตลาดได้รวมทั้งจะสามารถลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้ความร้อนเหลือทิ้งและ/หรือก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียเป็นเชื้อเพลิง
  • ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดต้นทุนการผลิตเอทานอลตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ยีสต์กระบวนการหมักกระบวนการทำเอทานอลให้บริสุทธิ์และการพัฒนารถยนต์
  • กำหนดราคารับซื้อเอทานอลให้ชัดเจนโดยอาจใช้มาตรการทางภาษีเพื่อนำรายได้ไปอุดหนุนผู้ผลิตเอทานอลด้วยการช่วยจ่ายส่วนหรือกำหนดราคาประกันรับซื้อขั้นต่ำของเอทานอล
  • กำหนดมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาปัญหาของรถยนต์รุ่นเก่าที่อาจได้รับผลกระทบเมื่อมีการประกาศใช้E10/95ทั่วประเทศเช่นการช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนโดยไม่คิดราคาหรือในราคาถูก
  • ชะลอการส่งเสริมE10/91 และE20/95 ไปก่อนจนกว่าจะมั่นใจว่ามีปริมาณวัตถุดิบเพียงพอและการใช้ไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ตลอดจนมีเวลาเพียงพอให้โรงกลั่นน้ำมันปรับปรุงกระบวนการกลั่น

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการผลิตไบโอดีเซล

  • ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการเก็บกลับ (Recover) แอลกอฮอล์ที่ใช้ในการผลิตไบโอดีเซลและการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้       กลีเซอรีนเพื่อลดต้นทุนการผลิต
  • กำหนดมาตรฐานไบโอดีเซลชุมชนอย่างเหมาะสมและหาแนวทางในการส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลในระดับชุมชน
  • ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของปาล์มน้ำมันทั้งด้านการจัดการและพัฒนา / คัดเลือกสายพันธุ์ส่วนสบู่ดำนั้นให้ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการเก็บเกี่ยวจนถึงโรงงานสกัดให้ชัดเจน
  • สนับสนุนการปลูกและประกันราคาและประเมินราคาพืชน้ำมันการรับซื้อไบโอดีเซลจากผู้ผลิตในราคาที่เหมาะสมตลอดจนกำหนดราคาขายให้แข่งขันกับน้ำมันดีเซลได้ทั้งนี้อาจใช้กลไกทางภาษีเช่นเดียวกับกรณีของแก๊สโซฮอล์
  • กำหนดให้มีองค์กรส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโดยเฉพาะในรูปแบบที่คล้ายกับMalaysian Palm Oil Board
  • ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกในการผลิตไบโอดีเซลในระยะยาวเช่นการเลี้ยงสาหร่ายเพื่อการผลิตไบโอดีเซล

5. เทคโนโลยีการผลิตและปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อน

  • ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพ เทคโนโลยีการทำความสะอาดก๊าซชีวภาพ และเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์ก๊าซชีวภาพ
  • จัดทำกองทุนสนับสนุนด้านงานวิจัย และองค์กรกลางเรื่องก๊าซชีวภาพเกิดขึ้น (Planning and implementating Agency)
  • ควรมีการทำการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญทั้ง Researcher และ Implementation ระหว่างองค์กรต่างๆในประเทศไทยและระหว่างประเทศ
  • ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ก๊าซชีวภาพในรูปแบบต่างๆ เช่น การส่งเสริมการใช้ CBG ในภาคต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการใช้ประโยชน์ก๊าซชีวภาพ
  • ส่งเสริมและสาธิตเทคโนโลยีใหม่หรือปรับปรุงเทคโนโลยีเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพโดยจัดตั้งศูนย์รวมข้อมูลด้านเทคโนโลยีขึ้น และมีการตั้งมาตรฐานอุปกรณ์และเครื่องจักร

 

สวทน. เน้นการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของชีวมวลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและเกี่ยวโยงกันระหว่าง ภาคพลังงาน ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัฒนาสังคม สวทน. (ศรีฉัตรา [email protected]