You are here

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีเซนเซอร์

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีเซนเซอร์

สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง

Thailand Advanced Institute of Science and Technology (THAIST)

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)

        เซนเซอร์ หมายถึง ชุดอุปกรณ์ ระบบ หรือ วงจร ที่ทำหน้าที่ตรวจวัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง หรือการสัมผัส โดยทำหน้าที่ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ หรือลักษณะของเป้าหมายวิเคราะห์ (Analytical target) และแสดงผลในลักษณะสัญญาณที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญานไฟฟ้า สัญญาณกลศาสตร์ (Mechanic) สัญญาณเชิงแสง (Optic) หลักในการทำงานเบื้องต้นของเซนเซอร์คือ เป็นการตรวจจับสัญญาณแต่ละชนิด เช่น แสง สี การเปลี่ยนแปลงมวล อุณหภูมิ ที่เกิดขึ้นระหว่างเป้าหมายที่ต้องการวัด กับตัวทำปฏิกิริยาที่จำเพาะ จากนั้นส่งผ่านเครื่องแปลงสัญญาณ (Transducer) ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณที่เกิดขึ้น มาเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่ตรวจสอบได้ และถูกวิเคราะห์ พร้อมทั้งนำเสนอโดยระบบประมวลและแสดงผล (Detector and Display system)

        โดยทั่วไปเซนเซอร์จะประกอบด้วยสองส่วนหลัก ได้แก่ 1) เครื่องมือตรวจวัดคุณสมบัติของระบบหรือสิ่งที่ต้องการวัด 2) ระบบประมวลผลและแสดงผลของการวัด ในภาพรวมเซนเซอร์ ครอบคลุมเทคนิค วิธีการตรวจวัด 3 ด้าน ได้แก่ เซนเซอร์ด้านกายภาพ (Physical sensor)  เซนเซอร์ด้านเคมี (Chemical sensors)  เซนเซอร์ด้านชีวภาพ (Biosensors) นอกจากนี้ยังรวมถึง Electrical, Electronic Sensors ซึ่งเป็นเทคนิคที่นำเอาข้อมูลจากเซนเซอร์ที่ใช้เทคนิคด้านกายภาพ เคมี หรือชีวภาพ ข้างต้นมาเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้า และแปลงค่ามาเป็นข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ยอีกครั้ง เพื่อให้สามารถอ่านค่า วิเคราะห์ผลได้ง่ายมากขึ้น

 

ความสำคัญของเทคโนโลยีเซนเซอร์ในภาคอุตสาหกรรม

ปัจจุบันอุปกรณ์ตรวจวัดหรือเซนเซอร์ ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างแพร่หลาย ซึ่งมีการคาดการณ์โดยสถาบัน BBC Research ว่า ในปี พ.ศ. 2563 มูลค่าตลาดเซนเซอร์ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 154.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีถึงร้อยละ 10.1 จากปี พ.ศ. 2558

ทั้งนี้การขยายตัวดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนหลายๆ ประการไม่ว่าจะเป็น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่มีการปรับปรุงเซนเซอร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้มาตรฐานมากขึ้น อีกทั้ง เซนเซอร์หลายชนิดได้ถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง ราคาถูกลง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ ร้านค้า สินค้า ฯลฯ รวมทั้งมนุษย์สามารถสื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ต การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้งาน  ที่ต้องการการเชื่อมโยงการสื่อสารข้อมูล การตรวจสอบแบบเรียลไทม์ และ การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ อย่างเป็น network  รวมถึงการแชร์ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ฯลฯ เหล่านี้ล้วนสนับสนุนการเติบโตของตลาดเซนเซอร์ทั่วโลก

  

 

โอกาสของภาคอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีเซนเซอร์ไทย

สำหรับตลาดในประเทศไทย พบว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์กับ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์/กิจกรรม ที่มีบทบาทที่สำคัญในปัจจุบันที่มีต่อประเทศไทย ได้แก่ (1) ด้านการเกษตรและอาหาร (2) ด้านการแพทย์และสุขภาพ (3) ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และระบบโลจิสติกส์ (4) ด้านสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย ซึ่ง โดยหากแบ่งมูลค่าตามกลุ่มผู้ใช้งานซึ่งจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของเซนเซอร์ในกลุ่มยานยนต์ และสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากกลุ่มนี้เซนเซอร์จะเข้าไปประกอบกับอุปกรณ์ที่มีราคาสูง สำหรับกลุ่มสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่จะเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่ เพื่อการเฝ้าระวัง ทำให้มีมูลค่าสูงตามไปด้วย ซึ่งเมื่อมองในแง่โอกาสของตลาดในด้านความจำเป็นในการใช้งาน และการเติบโตของตลาดในประเทศ พบว่าเซนเซอร์มีโอกาสอยู่ในผลิตภัณฑ์หลายๆ ด้าน ตามที่น่าจับตามอง ได้แก่

         ด้านอาหารและการเกษตร

  • มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารในปี พ.ศ. 2557 สูงถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 ของ GDP การประยุกต์ใช้เซนเซอร์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญในการสนับสนุนการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของประเทศ ทั้งเรื่องความปลอดภัย และมาตรฐานของอาหารส่งออก
  • ปัจจุบันมีโรงงานแปรรูปอาหารกว่า 10,000 โรง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้อุปกรณ์ ระบบต่างๆ ที่สนับสนุนการดำเนินงานอยู่อีกมาก
  • ความปลอดภัยในอาหารภายในประเทศเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ ในแต่ละปีมีผู้บริโภคที่ป่วยด้วยอาการอาหารเป็นพิษปีละกว่า 100,000 คน

             

 

         ด้านการแพทย์และสุขภาพ

  • ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยในปี พ.ศ. 2557 มีสัดส่วนผู้สูงวัยประมาณร้อยละ 14.9 ของประเทศ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงคนไทยมีแนวโน้มเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จึงมีความจำเป็นและความต้องการในการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น
  • ปัจจุบันมีโรคอุบัติใหม่ เช่น ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ เกิดขึ้นและต้องการอุปกรณ์ในการตรวจวัดเบื้องต้นเพื่อป้องกัน หรือเฝ้าระวังต่างๆ
  • มีโรคเฉพาะพื้นที่ โรคที่คนไทยและประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงต้องเสียชีวิตอีกหลายโรค ซึ่งปัจจุบัน การตรวจวัด ป้องกัน คัดแยกผู้ป่วย ยังใช้อุปกรณ์ราคาแพง หรือบางโรค ยังไม่มีอุปกรณ์ตรวจวัดเฉพาะ จึงเป็นโอกาสให้มีการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ด้านนี้ สำหรับตลาดในภูมิภาคอีกพอสมควร

         ด้านยานยนต์และระบบโลจิสติกส์

  • ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก ปัจจุบันมีการส่งงออกและนำเข้ารวมกันประมาณ 2 ล้านคัน มีรายงานว่าผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 27.3 พันล้านบาทในปี พ.ศ. 2557
  • ตลาดอุปกรณ์เสริมในรถยนต์ในประเทศมีการเติบโตสูงกว่าร้อยละ 30 ต่อปี มีมูลค่าถึง 121.5 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2556
  • ปัญหาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ปัญหาด้านการจราจร เป็นปัญหาหลักของประเทศ ยังต้องการระบบเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาในระดับประเทศอีกมาก

         ด้านสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย

  • ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยในปี พ.ศ. 2557 มีสัดส่วนผู้สูงวัยประมาณร้อยละ 14.9 ของประเทศ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงคนไทยมีแนวโน้มเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จึงมีความจำเป็นและความต้องการในการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น นอกจากนั้น ยังมีความต้องการดูแลที่อยูอาศัย ซึ่งอาจจะมีผู้สูงวัยอยู่บ้าน หรือที่อยู่อาศัยของครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น และมีความต้องการระบบที่อยู่อาศัยอัฉจริยะ ในอนาคต
  • ด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ที่ควรจะมีการกำหนด กำกับดูแล ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเชิงมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศดีขึ้น

ห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เซนเซอร์ของประเทศไทย

ผลิตภัณฑ์เซนเซอร์ในภาพรวมแม้มีความแตกต่างในเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานการผลิตและการนำไปประยุกต์ใช้งานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในแต่ละตลาด แต่ยังคงมีความเกี่ยวพันกันในลักษณะของห่วงโซ่ธุรกิจ ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นถึงความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพของผู้ประกอบการ ซึ่งภาพรวมของห่วงโซ่ธุรกิจ (value chain) ของอุตสาหกรรมเซนเซอร์ ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบการและผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย ดังนี้

 

           

 

 

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่ ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ กล่าวภาพรวมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านเซนเซอร์ได้ 2 กลุ่มใหญ่คือ

  1. กลุ่มนำเข้าชิปและประกอบระบบ รวมถึงการบริการ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ ซึ่งยังต้องมีการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น
  2. กลุ่มผู้ผลิตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ และสามารถดำเนินการได้ถึงระดับปลายน้ำตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ รวมถึงการบริการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาชิปและสารตั้งต้นนี้ ประเทศไทยยังมีที่มีไม่มาก ซึ่งต้องเพิ่มความสามาถในการผลิตและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้เพิ่มขึ้นในอนาคต

ศักยภาพและสิ่งพึงตระหนักสำหรับประเทศไทย

ถึงแม้ว่าการเติบโตทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ด้านเซนเซอร์จะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็ตาม เซนเซอร์ที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อเป็นชิ้นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพื่อการอุปโภคภายในประเทศหรือส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ และเครื่องปรับอากาศของบริษัทต่างประเทศที่ตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีห่วงโซ่การผลิตที่เหนียวแน่น ส่วนประกอบต่างๆ รวมถึงเซนเซอร์ที่ใช้จะถูกกำหนดจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์เซนเซอร์เพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ตลอดจนการผลิตเพื่อการใช้งานเฉพาะอย่างภายในประเทศอย่างไรก็ตามยังพบว่า อุตสาหกรรมผลิตและการประยุกต์ใช้เซนเซอร์ในประเทศไทย ยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ทั้งด้านการสนับสนุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก บุคลากรทีมนักวิจัยประเทศอื่นมีความเข้มแข็งไม่เพียงพอกับการแข่งขันต่างประเทศ รวมการขาดระบบการรับรองมาตรฐานที่ทัดเทียมกับระดับสากลที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคได้ ทำให้ผลงานวิจัยที่คิดค้นส่งถึงมือผู้บริโภคได้ยาก โดยสามารถกล่าวสรุปถึงความเข้มแข็ง จุดอ่อน โอกาส ต่างๆ ได้ดังรูปที่ 7 ดังนี้

 

ทั้งนี้สิ่งที่พึงตระหนักในปัจจุบัน คือ แม้ว่าภาครัฐ และภาคเอกชนรายใหญ่จะมีนโยบายสนับสนุนการสร้างธุรกิจใหม่ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ การสนับสนุนเงินทุน การให้องค์ความรู้และแนวคิดเชิงธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่การสนับสนุนโดยเฉพาะกิจกรรมของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่องยั่งยืน มีการดำเนินงาน และกิจกรรมสนับสนุนเป็นช่วงๆ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการผูกขาดด้านเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการรายใหญ่ การพัฒนาอุปกรณ์บางประเภทซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูง จึงไม่สามารถพัฒนาแข่งขันกับต่างประเทศซึ่งมีเทคโนโลยีสูง และพัฒนามาเป็นเวลานานได้

 

ทิศทางการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรมเซนเซอร์ไทย

           จากศักยภาพความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรเชี่ยวชาญด้านเซนเซอร์ในประเทศไทย ซึ่งมีการสะสมองค์ความรู้พื้นฐานเชิงวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพและระบบการตรวจวัดมาระยะเวลาหนึ่ง มีบุคลากรที่มีความสามารถและทำการวิจัยในลักษณะรวมกลุ่ม ทำให้เทคโนโลยีเซนเซอร์ชีวภาพมีโอกาสประสบความสำเร็จในการแข่งขันเพื่อต่อยอดผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปเป็นผลิตภัณฑ์ในระดับอุตสาหกรรมได้ในอนาคต ดังนั้น ศักยภาพและความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีไทยที่สอดคล้องกับห่วงโซ่ธุรกิจเซนเซอร์ จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาใน 2 ส่วน คือเซนเซอร์ทางกายภาพและเคมีที่มีความต้องการเฉพาะด้านสำหรับอุตสาหกรรมที่มีจำเป็นที่ชัดเจน และอีกส่วนคือการพัฒนาเซนเซอร์ทางชีวภาพเพื่อการตรวจวิเคราะห์หรือตรวจวินิจฉัย ทั้งนี้ภาพรวมความสามารถเฉพาะทางด้านเครือข่ายเทคโนโลยีเซนเซอร์จำแนกตามภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม  อาจเป็นการยากที่จะไปชดเชยการนำเข้าในตลาดปัจจุบัน ประเทศไทยจึงมุ่งเน้นในส่วน ‘Nich market’ กลุ่มเล็กเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะและกลุ่มใหญ่เน้นการต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งในอนาคต ตลาดในประเทศไทยอาจเล็กเกินไปผู้ประกอบการควรต้องขยายสู่ ตลาดโลกต่อไป นอกจากนี้การเปิดการค้าเสรีอาจเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเซนเซอร์ของประเทศไทย เนื่องจากในต่างประเทศ เช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการผลิตสูงและมีค่าแรงงานต่ำ รวมถึงการใช้กลยุทธ์ด้านราคามาใช้ในการแข่งขัน ดังนั้น การเลือกกลุ่ม Applications ที่จะสนับสนุน ควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าในเรื่องการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเทคโนโลยีในระยะยาว ซึ่งศักยภาพของไทยในตลาดระยะต้นน้ำมีความเป็นไปได้ในกลุ่ม bio sensor อันเป็นอุปกรณ์ในเชิงป้องกันทางสุขภาพ และโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในตลาดระยะปลายน้ำอาทิ เซนเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อมน่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการใช้และการขยายตัวในประเทศได้ โดยการกำหนดระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยผลิตอุปกรณ์หรือระบบเพื่อตรวจวัดต่างๆ ตามข้อกำหนดหรือระเบียบเหล่านั้น เซนเซอร์เพื่อใช้ตรวจวัดก๊าซและกลิ่นในสิ่งแวดล้อม รวมถึงเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับเครื่องปรับอากาศ เซนเซอร์ราคาประหยัดสำหรับตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นโรคในเขตประเทศร้อนชื้น เซนเซอร์สำหรับตรวจวัดสารพิษในอาหาร อุปกรณ์การแพทย์ (medical device) ส่วนใหญ่ผู้ใช้เป็นภาครัฐ เป็นต้น

         ดังนั้น เพื่อให้ทิศทางยุทศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซนเซอร์ของไทยในระยะยาว ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ข้อเสนอแนะและความต้องการต่อการดำเนินงานเครือข่ายความร่วมมือเซนเซอร์ในภาพรวม ดังรูปที่ 8

นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซนเซอร์ไทย

เป้าหมาย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเซนเซอร์และระบบเพื่อสนับสนุนตลาดในประเทศในระยะสั้น
และขยายความเข้มแข็งสู่ตลาดโลกในระยะยาว โดยมุ่งเน้นที่ตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market)

อุตสาหกรรมเซนเซอร์โลกมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีเทคโนโลยีระดับสูงอยู่ในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้โอกาสของประเทศไทยในการแข่งขันในอุตสาหกรรม อาจทำได้ยาก อย่างไรก็ตามการเติบโตของตลาด และแนวโน้มการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย ทำให้ยังมีโอกาสอยู่อีกมาก  ถ้าการมุ่งตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ไม่ว่าจะเป็นตลาดที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งเชิงองค์ความรู้ เช่น การทำการเกษตร อาหาร หรือการแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิต โรคภัยไข้เจ็บ โดยสร้างความเข้มแข็งของผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์ จากนั้นขยายฐานไปสู่การส่งออกในระดับภูมิภาคใกล้เคียง และในตลาดโลกต่อไป

อย่างไรก็ตามทประเทศไทยควรต้องตระหนักว่าไทยมีความเข้มแข็งด้านไหนอย่างเด่นชัดอย่างแท้จริง ซึ่งอาจต้องมีการแยกตาม ระดับเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไปอีกครั้ง  ทั้งนี้ในภาพรวมการส่งเสริมจากหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีจำแนกเป็นสามด้าน ได้แก่

  • นโยบายสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทั้งในรูปแบบของสถานที่ บุคลากร เพื่อดำเนินงานวิจัยพัฒนา รวมถึงมีหน่วยงานด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีรองรับเมื่อมีผลการพัฒนาที่สามารถเผยแพร่หรือส่งมอบแก่ภาคอุตสาหกรรมได้
  • นโยบายทางการเงิน เช่น Incentive ด้านผลงานวิจัย วิชาการ เป็นการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้บุคลากรในหน่วยงานผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ
  • นโยบายที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น การปรับตำแหน่ง   การประชาสัมพันธ์  และส่งเสริมฐานะทางวิชาการ

 

จากสถานภาพทางการตลาด ศักยภาพ และความต้องการของผู้ประกอบการเซนเซอร์ไทย สามารถนำเสนอแผนกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซนเซอร์ของไทยและแผนปฏิบัติการเครือข่ายนำร่อง ซึ่งประบด้วยกลยุทธและมาตรการในการดำเนินทั้ง 5 ด้านดังนี้ 

 

แผนที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเซนเซอร์และเครือข่ายเซนเซอร์สำหรับประเทศไทย

แผนที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเซนเซอร์และเครือข่ายเซนเซอร์สำหรับประเทศไทย จำแนกออกตามตลาดการประยุกต์ใช้งาน ทั้ง 4 ด้าน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น (1-2 ปี) และระยะกลาง-ยาว (มากกว่า 3 ปี) ได้ดังนี้

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมาย แผนกลยุทธ์และมาตรการต่างๆ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเซนเซอร์ของไทยดังกล่าว จึงควรมีการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ควรดำเนินโครงการนำร่องให้เกิดขึ้นก่อนในปีแรก ประกอบด้วย 5 โครงการหลัก ได้แก่

  1. พัฒนาผลิตภัณฑ์นำร่องเพื่อตอบรับความต้องการของตลาด (niche market) โดยเน้นการสร้างนวัตกรรมและบริการ ได้แก่
    • ชุดตรวจที่มีความจำเพาะต่อโรคในภูมิภาค ชุดตรวจทางพันธุกรรมเฉพาะ เช่น โรคมะเร็งลำใส้ มะเร็งเต้านม การตรวจยีนที่พบปัญหามากในประเทศ ตรวจอาการแพ้ เป็นต้น
    • ชุดตรวจและติดตามสุขภาพโดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ (Emerging disease) ชุดตรวจติดตามสุขภาพสำหรับดูแลผู้สูงวัย (Aging Population) ด้วยตนเอง
    • ระบบและอุปกรณ์เชนเซอร์สำหรับระบบเกษตรแม่นยำ โดยประยุกต์เชื่อมโยงจากงานวิจัย องค์ความรู้ที่มีอยู่ด้านการเกษตรของไทย

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการดำเนินงานโครงการนำร่อง หรือกิจกรรมที่ควรจะมีการผลักดันจำเป็นจะต้องมีการหารือ และร่วมระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อไป

  1. พัฒนาหลักสูตรสหสาขาวิชา และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเซนเซอร์ หรือรูปแบบการเรียนการสอนอื่นๆ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้แบบสหสาขาวิชา ท
  2.  จัดทำฐานข้อมูลและระบบสืบค้นข้อมูลที่ทันสมัย
  3. สนับสนุนให้เกิดหน่วยงานกลาง ซึ่งทำหน้าที่ในการพัฒนากระบวนการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
  4. สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมในลักษณะศูนย์ประสานงานการทดสอบด้านผลิตภัณฑ์เซนเซอร์ที่เชื่อมโยงกับศูนย์เชี่ยวชาญการทดสอบที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย ในระยะแรกอาจเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูล การสร้างเครือข่าย และขยายผลไปสู่การพัฒนาความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการดำเนินงาน                                                                    

เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีเซนเซอร์ของประเทศไทย บรรลุตามเป้าหมาย หน่วยนงานผู้เกี่ยวข้อง ควรต้องคำนึงถึงปัจจัยที่นำแนวทางการดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จ

อย่างมีประสิทธิผลใน 4 ด้าน อันได้แก่

  1. มีองค์กรแกนนำหรือเจ้าภาพหลัก โดยที่องค์กรแกนนำจะต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานในลักษณะการบูรณาการให้กิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมเครือข่าย รวมถึงสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อทำให้เกิดกิจกรรมเครือข่าย
  2. มีกลไกบริหารเครือข่ายที่เข้มแข็งและยั่งยืน มีกิจกรรมที่ต่อเนื่องจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ที่จะเข้ามาร่วมดำเนินงานในเครือข่าย ก่อให้เกิดการร่วมกันแก้ปัญหา และสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
  3. มีการดำเนินกิจกรรมนำร่องและการขยายผลที่เห็นผลสำเร็จที่ชัดเจน ซึ่งการเริ่มดำเนินงานกิจกรรมนำร่องจะทำให้แผนกลยุทธ์ต่างๆ ที่ได้เสนอมามีการขับเคลื่อนในเบื้องต้น ได้เห็นถึงปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้น และสามารถนำมาเป็นข้อเสนอแนะปรับปรุงการดำเนินงานในระยะต่อไปได้
  4. มีการสนับสนุนด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนของการดำเนินงาน และการสนับสนุนการขยายผลการดำเนินงานในระยะยาว