You are here

พืชดึกดำบรรพ์เกิดใหม่ด้วยคอมพิวเตอร์

นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์ ออกแบบวิธีที่จะทำให้พืชดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับมามีชีวิตได้อีกครั้งในแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยาสามารถระบุประเภทของฟอสซิลได้ง่ายขึ้นในอนาคต

Jeff Benga นักศึกษาจากภาควิชาชีววิทยาบูรณาการ และพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์ ได้เผยว่า ซากฟอสซิล Leclercqia scolopendra ในตระกูล Lycopodium เมื่อประมาณ 400 ล้านปีก่อนนั้น ถูกสร้างขึ้นโดยการใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์สามมิติให้มีสภาพมีชีวิตใกล้เคียงของจริง โดยลำต้นของพืชจำลองนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 มิลลิเมตร

“ปกติแล้ว เวลาเราเห็นภาพของพืชในช่วงยุคแรก มันดูไม่น่าดึงดูดเท่าไหร่ แต่ตอนนี้เราจะเห็นการแตกกิ่งก้านสาขาของลำต้นเป็นสีเขียวๆ เลย แม้เราจะไม่ได้สร้างขึ้นมาละเอียดเท่าไหร่ในตอนนี้ก็ตาม”

“เราเคยเห็นการสร้างแบบจำลองไดโนเสาร์ขึ้นมาใหม่แล้วใส่สีสันเข้าไปมากมายตอนนี้เราทำแบบจำลองกับพืชบ้าง” Benga กล่าว

Jeff Benga นักศึกษาจากภาควิชาชีววิทยาบูรณาการ

แบบจำลองของ Benga  เป็นภาพสีเต็ม แลดูเป็นภาพถ่ายทั่วไป แต่ในความเป็นจริงนั้นวาดขึ้นมาจากต้นพืชที่ถูกกดอันอยู่ในหินเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 375 ล้านปี

พืชชนิดนี้มีชื่อว่า Leclercqia scolopendra หรือ centipede club moss มีชีวิตอยู่ในช่วง Devonian Period หรือ ‘ยุคของปลา’  ในยุคนั้น พืชในตระกูล Lycopodium เคยเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่มีใบเป็นรุ่นแรก ยอดของพืชชนิดนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ใน 4 นิ้ว มักจะเปลี่ยนเป็นหนามอ่อนเพื่อแผ่กระจายอาณาเขตปกคลุมทั่วพื้นดิน ยอดใบมีลักษณะคล้ายขอเกี่ยว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีประโยชน์เพื่ออะไร แต่ก็อาจจะนำไว้ปีนต้นไม้ต้นใหญ่ต้นอื่นๆ ทุกวันนี้พืชตระกูล Lycopodium เป็นตัวแทนของพืชในกลุ่มของ quillwort club moss และ spike moss

ในงานวิจัยครั้งนี้ Benga และทีมงานได้เขียนงานวิจัยอธิบายถึงเทคนิคใหม่ที่ช่วยให้นักบรรพพฤกษศาสตร์แปลความหมายจากฟอสซิลพืชได้อย่างดีขึ้น ทำให้มั่นใจในเรื่องของการจัดสายพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้น และเนื่องจากว่า club moss ในปัจจุบันสืบสายพันธุ์มาจากพืชตระกูล Lycopodium นักวิจัยก็เชื่อว่า น่าจะทดสอบวิธีการนี้กับพืชในตระกูลที่เกี่ยวข้องได้ วิธีการที่ใช้วิเคราะห์พืช Leclercqia ทำให้เป็นไปได้ที่เราได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นจากชิ้นส่วนของพืช ในเศษฟอสซิลที่เสียหายและจะทำให้เราเข้าใจความหลากหลายและวิวัฒนาการของพืชใน Devonian Period


ที่มาข้อมูล:

  1. University of California – Berkeley. (2014, April 11). Computer rendering: Graduate student brings extinct plants ‘back to life’. ScienceDaily. Retrieved April 13, 2014 from www.sciencedaily.com/releases/2014/04/140411153848.htm
  2. J. P. Benca, M. H. Carlisle, S. Bergen, C. A. E. Stromberg. Applying morphometrics to early land plant systematics: A new Leclercqia (Lycopsida) species from Washington State, USA. American Journal of Botany, 2014; 101 (3): 510 DOI: 10.3732/ajb.1300271
  3. http://www.vcharkarn.com/vnews/448549