You are here

Green Movement: กรณีศึกษา DDT กับ จุดเริ่มต้นบนความขัดแย้ง

4 July 2015
issue : 10

ภาพจาก media.treehugger.com

ประเด็นเรื่องความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้มีการอภิปรายในเวทีใหญ่ระดับนานาชาติมายาวนานหลายทศวรรษ ในปัจจุบันทั่วโลกได้เริ่มเผชิญกับผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งส่วนหนึ่ง (หรืออาจจะส่วนใหญ่ ยังไม่มีใครรู้) เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ประเด็นสิ่งแวดล้อมได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในวงกว้างเป็นครั้งแรกในสังคมอเมริกันและยุโรปช่วงทศวรรษที่ 1950s-1960s มีตั้งแต่ประเด็นที่ดูไม่หนักหนาสาหัสมาก เช่น ปรากฏการณ์ฟองผงซักฟอกปนเปื้อนตามแหล่งน้ำอันเกิดจากการใช้สารซักล้างที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือประเด็นที่ก่อให้เกิดมลพิษในปริมาณที่น่าเป็นห่วง เช่น กรณีเพลิงไหม้แม่น้ำคูยาโฮกา (Cuyahoga) ในอเมริกาเนื่องมาจากการปล่อยน้ำเสียที่มีน้ำมันเชื้อเพลิงจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ที่ต้นน้ำ เป็นต้น  

นักเขียนที่เราจะไม่กล่าวถึงไม่ได้หากพูดคุยเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือ ‘ราเชล คาร์สัน’ (Rachel Carson) นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อว่า Silent Spring ในปี ค.ศ. 1962 เนื้อหากล่าวโจมตีการใช้สารปราบศัตรูพืชที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติก็คือ ‘DDT’ (Dichlorodiphenyltrichloroethane) ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ไม่มีขั้ว ไม่ละลายน้ำ จึงมีคุณสมบัติสะสมในชั้นไขมันของสิ่งมีชีวิต

คาร์สันได้บรรยายความน่าสะพรึงกลัวของสารดังกล่าวไว้ในหลายข้อ เช่น การเป็นสารก่อมะเร็ง การก่อให้เกิดการลดลงของประชากรนกอินทรีอันเนื่องมาจากการเปราะบางของเปลือกไข่ เป็นต้น จนนำไปสู่การระงับการใช้ DDT โดยสิ้นเชิงโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1972

เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว สื่อถือว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของผู้คนค่อนข้างมาก และดูเหมือนว่าจะมากกว่านักวิทยาศาสตร์เสียอีก เพราะอันที่จริงก่อนที่คาร์สันจะจุดประเด็นเรื่อง DDT ขึ้นมา ราว 10 ปีก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์ของ Food and Drug Association (FDA) ก็ได้ออกมาประกาศแจ้งเตือนให้สาธารณชนระวังภัยของเจ้าสารปราบศัตรูพืชสังเคราะห์หลายชนิด จุดที่ทำให้งานเขียนของคาร์สันแพร่กระจายไปได้ในวงกว้างอาจเป็นเพราะวิธีการสื่อที่เน้นความเป็น ‘Emotional Device’ นั่นคือ เน้นการใช้อารมณ์ความรู้สึกให้ผู้อ่านเข้าถึงและคล้อยตามไปได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือ สาธารณชนเริ่มขาดความมั่นใจต่อการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีอยู่ในตลาดในขณะนั้น และเริ่มมีกระแสเรียกร้องให้ผู้นำกำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบพิษร้ายที่แอบแฝงอยู่ของเจ้าสารดังกล่าว

ปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้ต่อต้านคาร์สันมีขึ้นทันทีที่ Silent Spring ได้ถูกเผยแพร่ บรรดานักวิทยาศาสตร์โจมตีว่างานเขียนของเธอขาดหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน และกล่าวว่าสาเหตุของการลดลงของประชากรนกอินทรีไม่ใช่ DDT แต่เป็นกีฬาล่าสัตว์ การใช้กับดักสัตว์ การเติบโตของอุตสาหกรรม [1] เป็นต้น

ผู้ต่อต้านบางกลุ่มถึงขั้นยอมลงทุนสาธิตการ ‘กิน DDT’ ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ให้สาธารณชนเห็นกันอย่างเต็มสองตาเลยก็มี แต่ผู้ที่เสียผลประโยชน์มากที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตยาฆ่าแมลง ที่ต้องพยายามกอบกู้ภาพลักษณ์ที่ถูกงานเขียนของคาร์สันทำลายกลับคืนมา มีตัวเลขรายงานว่า The National Agricultural Chemicals Association ซึ่งเป็นสมาคมนักธุรกิจสารปราบศัตรูพืชต้องใช้เงินกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐ [2] ในการทำแคมเปญให้ข้อมูลแก่สาธารณชนถึงจุดอ่อนของงานเขียนของคาร์สัน

ในข้อเท็จจริงแล้ว DDT ถือว่าเป็นสารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพสูง มีความจำเพาะต่อการเลือกกำจัดแมลงและราคาถูกเทียบกับสารชนิดอื่นที่ได้มีการศึกษาวิจัยออกมาในภายหลัง ดังนั้นกลุ่มคนที่ดูน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดและมีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด ดูจะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อนซึ่งต้องเผชิญกับโรคมาลาเรีย

จากรายงานพบว่า การใช้ DDT กำจัดยุงพาหะทำให้ตัวเลขรายงานมาลาเรียในประเทศซีลอน (ศรีลังกาในปัจจุบัน) ลดลงจาก 2.8 ล้านรายในปี ค.ศ.1948 เหลือเพียง 1.7 ล้านรายในปี ค.ศ.1963 แต่หลังจากที่ได้มีการต่อต้านการใช้ DDT ตัวเลขดังกล่าวก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น  2.5 ล้านรายในปี ค.ศ.1969 [3]

ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด เสียงเรียกร้องจากสาธารณชนดูจะเป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายไม่สามารถจะละเลยได้ แม้จะยังมีข้อกังขาในเรื่องหลักฐานยืนยันทางวิทยาศาสตร์ แต่ในท้ายที่สุดก็เริ่มมีแนวคิดที่จะยกเลิกการใช้ DDT ตั้งแต่ในสมัยประธานาธิบดีเคเนดี ในช่วงกลางทศวรรษ 1960s จนกระทั่งสามารถยกเลิกการใช้ได้หมดในปี ค.ศ.1972  

แม้ว่าเราจะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าข้อคิดเห็นของฝ่ายใดมีความถูกต้องในแง่ของหลักการทางวิทยาศาสตร์มากกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป โลกต่างให้การยอมรับว่า Silent Spring ได้สร้างความตระหนักในเรื่องผลกระทบของสารเคมีสังเคราะห์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หลักการที่เรียกว่า ‘Precautionary Principle’ หรือ ‘ป้องกันไว้ดีกว่าแก้’ ได้ถูกนำมาพูดถึงในอุตสาหกรรมเคมีและวงการวิทยาศาสตร์มากขึ้น กล่าวคือ การนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ใดๆ ออกสู่ตลาด จะต้องมีการไตร่ตรองถึงโทษที่อาจแอบแฝงอยู่อย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่จะนำออกมาใช้มีความปลอดภัย ไม่มีผลทำลายสุขภาพผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม [4]

สิ่งที่ยังคงเป็นบทเรียนจากกรณี DDT ที่ยังคงปรับใช้กับสถานการณ์โลกในปัจจุบันคือ เราจะทำอย่างไรให้เป้าหมายเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินไปได้พร้อมๆ กับการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานได้ในเชิงราคา ผู้กำหนดนโยบายควรเข้ามามีบทบาทในการสร้างความสมดุลระหว่าง 2 ประเด็นนี้ เพื่อมิให้ประเด็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนด้อยลง (โดยเฉพาะคนในระดับฐานราก) อย่างไม่มีการประนีประนอม เราจะมีมาตรการอะไรที่จะตรวจสอบได้ว่า ภาพลักษณ์ความเป็น ‘Green’ ของนโยบาย องค์กร โครงการ หรือกิจกรรมใดๆ ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่ใช้หาประโยชน์ทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางภาษี เงินสนับสนุนกิจการ เงินวิจัย หรือใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางเศรษฐกิจผู้ที่ด้อยกว่าในเรื่องของวิทยาการ เราจะทำอย่างไรให้ ‘สื่อ’ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการชี้นำสังคม ไม่เลือกนำประเด็นที่อ่อนไหวมาเป็นเครื่องมือในการชี้นำ จนทำให้สาธารณชนเกิดความตระหนกและขาดการใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหา และสุดท้าย เราจะทำอย่างไร ให้คนในสังคมเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณ รู้จักแยกแยะประเด็น และหันมาพูดคุยกันโดยใช้หลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แหล่งที่มาของข้อมูล

  1. Milius, S. Science News 1998, 153, 261.
  2. Lear,L. Racheal Carson:  Witness for Nature; Penguin London 1999.
  3. Gerberg, E.J.;  Wilcox, I.H. Environmental Assessment of Malaria and Control Projects-Sri Lanka.; Agency for International Development., 1977, 20, 32
  4. Løkke, S. Environ Sci Pollut Res 2006, 13, 342