You are here

Medical Tourism: เที่ยวเทรนด์ใหม่ เที่ยวเชิงสุขภาพ

โดย: ศศิพงศ์ บุญยงค์

ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยว คนส่วนใหญ่ก็มักวางแผนเดินทางท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน ตามสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ จะมีสักกี่คนที่คาดหวังเรื่อง ‘สุขภาพ’ จากการท่องเที่ยวเป็นลำดับต้นๆ เทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงทั้งในและต่างประเทศอยู่ในขณะนี้คือ ‘การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ หรือ ‘Medical Tourism’

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ความเจ็บป่วยกำลังเกิดขึ้นกับคนทุกวัยอีกทั้งยังเกิดโรคใหม่ๆ อีกมากมาย ทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยกำลังเป็นที่ต้องการของชาวต่างประเทศ จากข้อมูลปี พ.ศ. 2550 มีชาวต่างประเทศที่ใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนประเทศไทย 1.42 ล้านคน สามารถสร้างรายได้เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 37,300 ล้านบาท โดยส่วนมากแล้วชาวต่างประเทศที่ใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยร้อยละ 57 เป็นชาวต่างประเทศที่มาพำนักหรือทำงานในประเทศ

ขณะร้อยละ 43 เป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งประมาณการณ์ได้อีกว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์มากถึงร้อยละ 75 และที่เหลืออีกร้อยละ 25 เป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการเนื่องจากเกิดเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างการท่องเที่ยว เมื่อผู้ป่วยเหล่านี้ทำการบำบัดรักษาสุขภาพของตัวเองเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อไปที่บุคคลเหล่านี้ต้องการคือการพักฟื้น ประเทศไทยมีแรงดึงดูดต่อสิ่งนี้เป็นอย่างดี เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากมายด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และยังมีการให้บริการที่ดี ความเป็นกันเองของคนไทยที่ถือว่าเป็นเสน่ห์ดึงดูดอีกแรงด้วย

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีอยู่ 2 ประเภทคือ

1. การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Tourism) เป็นลักษณะเดินทางเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ตัวเองชอบ แล้วจึงจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งเพื่อมาทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการและมีมาตรฐาน เช่น การนวด/อบ/ประคบสมุนไพร การบริการสุวคนธบำบัด (Aroma Therapy) และวารีบำบัด (Water Therapy) การท่องเที่ยวในลักษณะนี้ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายของนักท่องเที่ยวรู้สึกผ่อนคลาย ส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดี เป็นการเพิ่มพูนพละกำลังให้สมบูรณ์แข็งแรง ปรับความสมดุลให้กับร่างกาย

2. การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ (Heath Healing Tourism) เป็นการเดินทางท่องเที่ยว โดยแบ่งเวลาส่วนหนึ่งในช่วงเที่ยวไปรับบริการบำบัดรักษาสุขภาพการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐาน เช่น การตรวจร่างกาย การรักษาโรคต่างๆ การทำฟัน และการรักษาสุขภาพฟัน การผ่าตัดเสริมความงาม การผ่าตัดแปลงเพศ ฯลฯ การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพจึงมุ่งประโยชน์ต่อการรักษาฟื้นฟูสุขภาพนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ หรืออาจจะเป็นการพักฟื้นหลังจากต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานๆ การที่ผู้ป่วยได้ทำกายภาพบำบัดหรือพักฟื้นในสถานที่ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวท่ามกลางธรรมชาติที่มีอากาศที่บริสุทธิ์ ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพและสภาพจิตใจของผู้ป่วยอย่างเต็มที่

ปัจจุบันมีสถานที่ให้บริการการท่องเที่ยวในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง เนื่องจากมีความต้องการของผู้ใช้บริการมาก แต่ละแห่งได้มีการปรับกลยุทธ์ให้ทันสมัย พัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องของความปลอดภัยหรือแม้กระทั่งเพื่อความสะดวกสบายของการใช้บริการ ผลพลอยได้ที่ตามมาคือการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เห็นได้จากบางกิจกรรมของการท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมปลูกป่า ปล่อยปลา หรือแม้กระทั่งกิจกรรมธรรมชาติบำบัด ซึ่งถือว่าเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่นักท่องเที่ยวหรือสามารถเชื่อมโยงไปยัง Eco-tourism ได้อีกด้วย

ที่มา:

  1. http://thai.tourismthailand.org
  2. http://www.tourmuangthai.com
  3. http:// www.thaitravelhealth.com
  4. http://www.mots.go.th (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)