You are here

การเพาะเลี้ยงสาหร่าย..กลไกลสู่การลดโลกร้อน

โดย: มาโนช ผลพานิช

ปัญหาสภาวะโลกร้อนถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสังคมสิ่งมีชีวิตทั่วโลก มนุษย์ สัตว์ หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมต่างถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงนี้ และยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การผันผวนทางสภาพภูมิอากาศ ฤดูกาล การสูญเสียสมดุลทางนิเวศวิทยา ปัญหาความเสี่ยงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต จากความกังวลเหล่านี้หลายฝ่ายจึงหันมาให้ความสนใจปัญหาที่เกิดขึ้น

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นหนึ่งในก๊าชที่ก่อให้เกิดปัญหาสภาวะโลกร้อน โดยเกิดจากกิจกรรมเผาไหม้เชื้อเพลิงในระบบขนส่ง หรือกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงาน จึงทำให้รัฐบาลในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญว่าจะทำอย่างไรให้ลดปริมาณของก๊าซพิษที่ถูกปลดปล่อยจากกิจกรรมเหล่านี้ 

การเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้ เพราะนอกจากจะเป็นวิธีที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ (Algae Biofuel) และสารเคมีมูลค่าสูงได้ ทำให้หลายประเทศสนใจในการทำวิจัยสาหร่าย

สำหรับประเทศไทยมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทำงานวิจัยร่วมกันเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสาหร่ายโดยประเภทสาหร่ายที่นำมาวิจัยเป็นจุลสาหร่าย (Micro Algae) ซึ่งมีความคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งพลังงานใหม่ในอนาคต

หน่วยงานภาคเอกชนอย่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ริเริ่มโครงการ ‘รักษ์โลก…ลดโลกร้อนด้วยสาหร่าย’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมเป็นคณะที่ปรึกษา โครงการดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ราว 1 ไร่เศษในโรงไฟฟ้าราชบุรีเป็นบ่อเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินา

สาหร่ายสไปรูลินาสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าได้สูงกว่าต้นไม้ถึง 9 เท่าในขนาดพื้นที่ที่เท่ากัน โดยสาหร่ายในพื้นที่ 1 ไร่ จะเพาะเลี้ยงได้ 4 ตันต่อปี สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 9.59 ตันต่อไร่ต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของธาตุอาหารที่สำคัญหลายชนิด เช่น โปรตีน คลอโรฟิลล์ และไฟโคไซยานินซึ่งนำมาผลิตเป็นสารเคมีมูลค่าสูงได้

อย่างไรก็ตาม การใช้สาหร่ายเป็นตัวช่วยในกลไกของการลดสภาวะโลกร้อน เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่จะแก้ไขวิกฤติปัญหาสภาวะโลกร้อน เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้ แต่เราในฐานะตัวแปรหลักที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมต่างๆ เราจำเป็นต้องหันมาเอาใจใส่ต่อการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงการกำหนดนโยบายหรือการรณรงค์ แต่หมายถึงการลงมือทำอย่างเป็นจริงเป็นจัง เริ่มที่ตัวเรา เปลี่ยนแปลงและร่วมกันแก้ไข หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ในขณะที่พวกเรายังมีเวลา

ภาพจาก http://www.udclick.com/, http://www.sbs.utexas.edu

ที่มา:

  1. http://www.vcharkarn.com/electric/video/view.php?id=66
  2. http://www.manager.co.th/business/viewnews.aspx?NewsID=9550000052095