You are here

การมองอนาคตสไตล์สิงคโปร์ (Singaporean Foresight)

การมองอนาคตสไตล์สิงคโปร์ (Singaporean Foresight)

ประเทศสิงคโปร์ได้สูญเสียท่านลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกและเป็นบุคคลที่ถือว่าเป็นบิดาของประเทศไป เพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคน ลี กวน ยูทำให้สิงคโปร์ก้าวกระโดดจากประเทศที่มีขนาดเล็กๆ ที่ขอแยกจากประเทศมาเลเซีย กลายเป็นประเทศยักษ์จิ๋วในเวทีโลกที่ประเทศยักษ์ใหญ่ต่างให้ความเกรงใจ และเปลี่ยนจากประเทศที่ต้องซื้อน้ำจืดจากประเทศเพื่อนบ้าน กลายเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล มีอีกหลายเรื่องที่เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมของสิงคโปร์ แต่บทความนี้ขอนำเสนอเบื้องหลังการวางแผนประเทศสไตล์สิงคโปร์อีกมุมมองหนึ่ง

การมองอนาคต (Foresight) เป็นเทคนิคในการวางแผนระยะยาวที่สามารถนำมาใช้ในทุกๆ ระดับตั้งแต่ระดับองค์กรจนถึงระดับประเทศ วิธีการนี้มีความแตกต่างจากวิธีการวางแผนแบบปกติที่ไม่เหมาะกับการนำมาวางแผนระยะยาว วิธีการหลักๆ ที่ประเทศต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการนำวิธีการมองอนาคตมาใช้ในการวางนโยบายของประเทศนำมาใช้ได้แก่ การสำรวจแบบเดลฟี (Delphi Survey) การกวาดสัญญาณแนวราบ (Horizon Scanning) การวิเคราะห์ผลกระทบของแนวโน้ม (Trend Impact Analysis)

ข้อมูลที่ได้จากวิธีการเหล่านี้จะนำไปใช้ในการสร้างภาพอนาคต (Scenarios Building) เพื่อที่จะใช้ทำนายว่า อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร โดยจะมีการสร้างภาพอนาคตที่ดีที่สุด (Best Case Scenario) เพื่อใช้ในการวางแผนให้เกิดภาพนั้นให้ได้ และสร้างภาพอนาคตที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) เพื่อใช้ในการวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดภาพนั้น

การมองอนาคตในรัฐบาลสิงคโปร์เริ่มตั้งแต่การจัดตั้ง Risk Detection and Scenario Planning Office ในกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ปี 1991 และได้ถูกจัดตั้งใหม่เป็น Public Service Division (PSD) ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีในปี 1995 แต่ในปี 2003 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Strategic Policy Office ก้าวสำคัญของการมองอนาคตในรัฐบาลสิงคโปร์คือ การจัดตั้ง Risk Assessment and Horizons Scanning Programme (RAHS) ในปี 2004 และ Horizon Scanning Center (HSC) ในปี 2008 หลังจากนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้ง Strategic Futures Network (SFN) ให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ประสานงานในการทำงานด้านการมองอนาคตทั้งหมดของรัฐบาล

หน่วยงานที่ทำงานด้านการมองอนาคตทั้งหมดของประเทศสิงคโปร์อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหัวหน้าหน่วยงาน 2 หน่วยงานคือ National Security and Intelligence Coordination (NSIC) และ Public Service Division (PSD) โดยมีหน้าที่สนันสนุนการกำหนดนโยบายทั้งหมดของรัฐบาลสิงคโปร์ ภายใต้ NSIC ที่มีหน่วยงานภายใต้ชื่อ National Security Coordination Center (NSCC) มีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ด้านการมองอนาคตคือ Horizon Scanning Center (HSC) ที่ถูกจัดตั้งในปี 2008

ภายใต้ Public Service Division ที่มีหน่วยงานภายใต้ชื่อ Strategic Policy Office (SPO) มีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ด้านการมองอนาคตคือ Centre for Strategic Futures (CSF) และ Strategic Futures Network (SFN) ที่ถูกจัดตั้งในปี 2010 อย่างไรก็ตาม CSF จะทำหน้าที่หลักในการประสานการทำงานเรื่องการมองอนาคตในภาครัฐทั้งหมด โครงสร้างของระบบการมองอนาคตของประเทศสิงคโปร์ แสดงดังรูป

 โครงสร้างของระบบการมองอนาคตของประเทศสิงคโปร์

สรุปคือ แม้ว่าจะดูเหมือนมีหลายๆ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการมองอนาคต แต่มีเพียงหน่วยงานหลัก 2 หน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้คือ Horizon Scanning Center (HSC) ที่ใช้ Horizon Scanning เป็นเครื่องมือหลัก และ Centre for Strategic Futures (CSF) ที่ใช้เครื่องมือหลักคือ Scenarios Building  

รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการใช้วิธีการมองอนาคตมาช่วยในการกำหนดนโยบายของประเทศ ด้วยเทคนิคการมองอนาคตที่ดี จะทำให้มองอนาคตได้แม่นยำมากขึ้น เมื่อมีความแม่นยำมากก็ทำให้วางแผนได้ถูกต้องมากขึ้นนั่นเอง การทำงานด้านการมองอนาคตของรัฐบาลสิงคโปร์มีการพัฒนาการมาตามลำดับ มีการจัดโครงสร้างที่เป็นระบบ และมีความเป็นปัจจุบัน

ที่มา: Tuomo Kuosa (2011), Practising Strategic Foresight in Government, Nanyang Technological University