You are here

ความอยู่รอดและอนาคตของไทย: จากเศรษฐกิจสีน้ำตาลสู่เศรษฐกิจสีเขียว

ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์

จากกระแสของผู้คนที่ตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง รวมถึงการแข่งขันทางการค้าอันดุเดือดท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และปัญหาสังคมที่ถาโถมอยู่ในขณะนี้ ทำให้ทุกคนต่างรู้สึกถึงความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และต่างพยายามหาทางออกที่จะสามารถอยู่รอดได้โดยปกติสุข จึงเกิดการรณรงค์ในเรื่องของการใส่ใจและการอาศัยอยู่บนโลกใบนี้แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า การมุ่งสู่วิถีสีเขียว (Going Green) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปากท้อง ที่เป็นเรื่องที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากที่สุด

เมื่อเรากล่าวถึงเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยทั่วไปทุกคนจะนึกถึงการทำธุรกิจเกษตรในลักษณะที่มีผลิตผลจากธรรมชาติ เช่น การเพาะปลูกพืช ผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ หรือการค้าขายผลผลิตการเกษตร แต่เศรษฐกิจสีเขียวนั้นยังหมายถึงระบบเศรษฐกิจในสาขาอื่นๆ ทั้งภาคการผลิต และการบริการ โดยหลักสำคัญของเศรษฐกิจสีเขียว คือ รูปแบบเศรษฐกิจที่คำนึงการยกระดับคุณภาพชีวิต ร่วมกับการสร้างความเท่าเทียมของสังคม ลดความเสี่ยงต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยการลดการปลดปล่อยของก๊าซเรือนกระจก หรือเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งรวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง  

การใช้สีเขียวนั้น เป็นการแทนสัญลักษณ์แห่งความเป็นธรรม เป็นมิตรต่อเพื่อนมนุษย์ รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือดูแลโลกของเรานั่นเอง โดยเมื่อมีการนิยามคำว่า เศรษฐกิจสีเขียว ขึ้นมาแล้วนั้นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการเปรียบเทียบกับอีกคำที่ตรงกันข้าม นั่นคือ เศรษฐกิจสีน้ำตาล (Brown Economy) ซึ่งหมายถึงระบบเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา  ที่มีการมุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของมนุษย์เป็นสำคัญ หรือเป็นเศรษฐกิจที่มุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างไม่จำกัด  โดยปราศจากการคำนึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อส่วนรวม 

เมื่อมองย้อนกลับไปยังระบบเศรษฐกิจรากฐานเดิมของประเทศไทยตั้งแต่ต้น จะพบว่าไทยมีระบบเศรษฐกิจซึ่งเติบโตด้วยต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ เช่น เกษตรกรรมและเหมืองแร่ โดยในระยะช่วงปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมามีการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมมากขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงในปัจจุบัน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น  ถึงแม้การพัฒนาประเทศในทิศทางดังกล่าว จะสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในประเทศอื่นๆ แต่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม เนื่องจากการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และก่อให้เกิดมลพิษต่างๆ จากการพัฒนาอุตสาหกรรมเช่นกัน  

จากการวิเคราะห์แผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 11 รวมถึงนโยบายและแผน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พบว่า แนวทางของประเทศไทยที่จะสามารถก้าวสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนนั้น มีอยู่ 3 แนวทางสำคัญ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. การยกระดับพื้นฐานเศรษฐกิจแบบเดิมที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างสมบูรณ์ไปสู่พื้นฐานใหม่ของประเทศที่อยู่บนฐานองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยต้องมีนโยบายด้าน วทน. เพื่อการพัฒนาในแต่ละสาขาอย่างเป็นระบบและชัดเจน
  2. การเปลี่ยนวิถีการทำงานจากทำงานแยกส่วนมาเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วม เชื่อมส่วนงานต่างๆ เข้ามาทำงานด้วยกัน มีขนาดของทีมทำงานที่พอเหมาะ เน้นขนาดเล็กเพื่อการทำงานที่คล่องตัว แต่มีการเชื่อมโยงการทำงานกันไปมาอย่างรวดเร็ว
  3. การมุ่งสู่องค์รวมอย่างมีระบบ โดยเฉพาะในระดับนโยบายซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานระดับประเทศที่มีพันธกิจโดยตรงในการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนให้มาทำงานร่วมกัน เนื่องจากการทำงานในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นรูปแบบวงจรที่หลากหลายมิติ ไม่ใช่ลักษณะเป็นเส้นตรงในแนวตั้งหรือแนวนอนอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

หากวิเคราะห์ลงไปรายภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยจะพบว่าแนวทางสำหรับเศรษฐกิจสีเขียวสำหรับภาคเกษตรกรรมนั้น ควรมีทิศทางการส่งเสริมที่ไม่เน้นการตอบสนองเชิงปริมาณต่อจำนวนของเกษตรกรในปัจจุบัน หากแต่ต้องมุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าจากสินค้าเกษตรเพื่อตอบสนองตลาดที่มีหลากหลายมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น ในปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรอยู่ ร้อยละ 36 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสัดส่วนที่มาก แต่เกษตรกรของไทยล้วนแล้วแต่อยู่ในช่วงอายุสูงวัยเป็นจำนวนมาก

รายงานการศึกษาของธนาคารโลก (World Bank) อ้างอิงระบุว่า ระบบเศรษฐกิจการเกษตรที่สามารถทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางอาหารนั้น คือการรักษาสัดส่วนของจำนวนเกษตรกรในประเทศนั้นๆ ให้มีสัดส่วนอย่างน้อยที่ ร้อยละ 15 ของประชากรของประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้น ในปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรอยู่ ร้อยละ 36 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสัดส่วนที่มาก แต่เกษตรกรของไทยล้วนแล้วแต่อยู่ในช่วงอายุสูงวัยเป็นจำนวนมาก โดยมีเกษตรกรที่อายุมากกว่า 60 ปี ถึงสูงถึงร้อยละ 13 ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มความหลากหลายและการเข้าถึงรากหญ้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงมีการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจรากฐาน ยกตัวอย่างเช่น ในธุรกิจเกษตรและอาหารนั้น วัตถุดิบที่จะมาประกอบอาหารควรมาจากวัตถุดิบท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อเป็นการลดการผูกขาดทางตลาดของธุรกิจรายใหญ่ที่ยังคงเน้นการจัดการระบบเศรษฐกิจสีน้ำตาล

การเปลี่ยนแปลงนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในภาคอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ขึ้นในปี พ.ศ. 2554 เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับสังคม และชุมชนได้อย่างมีความสุขไปพร้อมๆ กัน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย และผลักดันให้ประเทศมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยจัดตั้ง ‘สำนักส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว’ ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและส่งเสริมการปรับพฤติกรรมและกระบวนการผลิตรวมถึงผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้

  1. พัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industry/Eco Industrial Zone) โดยเน้นการจัดการทรัพยากร การจัดการของเสีย ลดการปลดปล่อยมลพิษ ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้เกิดความสมดุลใน 5 มิติ คือ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการ
  2. สนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุตสาหกรรมจัดการกากของเสีย โดยเน้นการรีไซเคิล เพื่อนำไปสู่สังคมหมุนเวียนทรัพยากร (Material recycling society) ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการพลังงาน (ESCO –Energy Service Company) อุตสาหกรรมการผลิตด้วยเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตโซล่าเซลล์
  3. ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล การผลิตไบโอแก๊ส แก๊สโซฮอลล์ และไบโอดีเซล
  4. ส่งเสริมกระบวนการประหยัดพลังงาน ผ่านมาตรฐาน ISO50000 และตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550
  5. จัดทำฐานข้อมูลและประเมินวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCI-LCA) และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างทางเลือกต่างๆ
  6. ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว โดยกำหนดสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการผลิตสีเขียว
  7. จัดทำฉลากผลิตภัณฑ์ เช่น ฉลากเขียว ฉลากคาร์บอน เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงในภาคบริการของไทยนั้น มีนโยบายที่สนับสนุนการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากมาย แต่ที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่  การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  (Ecotourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical tourism) ซึ่งถือเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยกำลังให้ความสนใจ นอกจากนี้ในธุรกิจการโรงแรม ก็มีการปรับเปลี่ยนการบริการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ดังจะเห็นได้จากการที่ทุกโรงแรมมีการประกาศให้ผู้เข้าพักสามารถช่วยกันประหยัดน้ำในการใช้ซักผ้า โดยมีการรณรงค์ให้ผู้เข้าพักใช้ผ้าเช็ดตัวซ้ำ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทุกวัน

กล่าวโดยสรุปคือ การดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวนั้น ถือเป็นนโยบายที่ส่งเสริมระบบการมีส่วนร่วม โดยเชื่อมโยงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้สามารถมาทำงานร่วมกันให้ได้มากที่สุด นับจากนี้ต่อไปการใช้แรงงานและทรัพยากรที่มีต้นทุนต่ำในระบบเศรษฐกิจแบบยุคเดิม ถือว่ากำลังจะหมดไปจากประเทศไทยแล้ว ตัวอย่างที่เห็นชัดในประเทศที่พัฒนาแบบเศรษฐกิจสีเขียวหลายประเทศ พบว่า เศรษฐกิจที่เน้นแต่เพียงกำไรตัวเลข (เศรษฐกิจสีน้ำตาล) นั้นสุดท้ายแล้วไม่สามารถที่จะรอดพ้นต่อการถูกกระแสต่อต้านจากสังคมรอบด้านได้   

ในขณะที่องค์กรธุรกิจที่หันมาใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของสังคมภายนอกมากขึ้นต่างหากที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างสูงทั้งในทางตรงและทางอ้อม เป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจสีเขียวสามารถเติบโตได้รวดเร็วกว่าเศรษฐกิจสีน้ำตาล ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งการรักษาทุนแห่งธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับประเทศไทยที่เพิ่มเริ่มต้นในการพัฒนาประเทศแบบสีเขียว จะต้องผสานความร่วมมือกัน เพื่อความอยู่รอดของประเทศที่เคยขึ้นชื่อว่า เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และมีความสุขที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง


ที่มา:

  • World Development Indicators: Agriculture Inputs, 2013. World Bank Data.
  • The State of Food and Agriculture 2014. Food and Agriculture Organization of the United Nations.