You are here

HSUE-SHEN TSIEN

 

โดย: สุภัค วิรุฬหการุญ

ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของ ดร.เฉียน-เสวีย-เซิน (Dr.Tsien Hsue-shen) ผู้ซึ่งเป็นนักวิชาการจากโครงการ Talent Development ที่มีบทบาทสูงสุดในการพัฒนา วทน. เพื่อความมั่นคงและป้องกันประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน   

ดร.เฉียน เกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ที่ประเทศจีน แต่ได้เดินทางไปศึกษาและทำงานที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 24 ปี โดยได้ทุน Boxer Rebellion Indemnity Scholarship เพื่อไปศึกษาปริญญาโทด้าน Mechanical Engineering ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT)

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการสร้างกำลังคนด้าน วทน. ของประเทศ ซึ่งริเริ่มโดยผู้บริหารประเทศในสมัยนั้นที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล แม้ตลอดเรื่องจะสื่อสารกันเป็นภาษาจีน แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการชมเพราะมีคำบรรยายภาษาอังกฤษ   

เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างกระชับ เริ่มตั้งแต่สมัย ดร.เฉียนขอภรรยาแต่งงานและได้เดินไปสหรัฐอเมริกาด้วยกันเพื่อศึกษาต่อ   

การดำเนินชีวิตในสหรัฐ ของ ดร.เฉียนช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 หลังเรียนจบปริญญาเอก Dr. Tsien เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Jet Propulsion Laboratory ที่ California Institute of Technology และในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ยุค Second Red Scare นั้น ดร.เฉียนถูกกล่าวหาจากหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐว่าเป็นสายลับให้จีน ท่ามกลางความขัดแย้งที่ถาโถมเข้ามา

เขาได้ตัดสินใจที่จะอพยพครอบครัวกลับประเทศจีน แต่เนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับ และ ดร.เฉียนเป็นกำลังสำคัญในการวิจัยและพัฒนาโครงการขีปนาวุธและอวกาศของสหรัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ ทำให้รัฐบาลสหรัฐไม่อนุญาตให้เขาเดินทางออกนอกประเทศ โดยถูกกักตัวเป็นเวลาเกือบ 5 ปี และได้ถูกปล่อยตัวในปี ค.ศ. 1955 โดยมีการแลกตัวกับนักบินชาวสหรัฐที่ถูกกักขังในประเทศจีน จำนวน 11 คน

หลังจาก ดร.เฉียนได้เดินทางกลับประเทศจีน โดยไม่มีงานวิจัยหรือเอกสารทางวิชาการของเขาติดตัวกลับมาเลย อย่างไรก็ตาม เขาได้กลับมาทำงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านอวกาศและจรวดในประเทศจีน โดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากผู้บริหารประเทศ

ภายใต้การนำของ ดร.เฉียน จีนสามารถพัฒนา R-2 missile (ค.ศ. 1958) DF-1 missile (ช่วงต้นยุค 1960s) และ CZ/DF-5 intercontinental ballistic missile (ค.ศ. 1971)

ในปี ค.ศ. 1968  ดร.เฉียนจัดตั้ง China's Space Flight Medical Research Center เพื่อเริ่มการดำเนินการเกี่ยวกับแผนอวกาศของจีน และในปี 1970 สิ่งที่ ดร.เฉียนได้วางแผนและพัฒนาขึ้นทั้งหมดนั้น ได้ส่งผลให้จีนสามารถส่งดาวเทียมดวงแรกของจีนขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นครั้งแรก และในปี 1978 จีนมีสถานีอวกาศของจีนเอง เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

ดร.เฉียน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม  2552 อายุ 98 ปี ที่เมืองปักกิ่ง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ข้อคิดอย่างน้อย 2-3 ประการคือ ผู้บริหารประเทศมีวิสัยทัศน์ยาวไกลและเห็นความสำคัญในการสร้างลงทุนเพื่อกำลังคนด้าน วทน. ของประเทศ การมีเส้นทางอาชีพ (Career Path) ที่ชัดเจนและให้การสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในทุกด้านเมื่อเขากลับมาตุภูมิ และการมีโครงการขนาดใหญ่ (Flagship) ด้าน วทน. เป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งในการพัฒนา วทน. ของประเทศอย่างก้าวกระโดด (ในกรณีนี้คือโครงการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและจรวดของประเทศ)