You are here

บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับการนำไปช่วยภาคการเกษตร

โดย : ชนัดดา สุสมบูรณ์

ประเทศไทยเป็นประเทศฐานเกษตรกรรม ในขณะที่คนทั่วไปมีทัศนคติว่าการทำเกษตรเต็มไปด้วยความเสี่ยงและปัญหามากมาย ฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจ สวทน. ได้มีโอกาสเข้าพบกับ รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ ซึ่งถือว่าเป็นกูรูผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการเกษตรบ้านเรามายาวนาน และเป็นผู้ที่ได้นำเอาองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายอย่างไปแก้ปัญหาและพัฒนาให้กับเกษตรกรมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

รศ.ดร.อำไพวรรณ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับบทบาทของ วทน. กับการนำไปช่วยภาคการเกษตรว่า การผลิตด้านเกษตรโดยเฉพาะด้านพืช ตั้งแต่การปลูกถึงการขายสู่ตลาดและผู้บริโภคซึ่งอาจกล่าวในภาพรวมได้ว่าตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหรือ Value Chain นั้นเกี่ยวข้องกับงานหรือองค์ความรู้ด้าน วทน.และมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ วทน.เพื่อยกระดับการผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของสินค้า

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพเป็นเกษตรกร มีการสืบทอดพัฒนาวิธีการปลูกและการดูแลพืชแต่ละชนิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนบางครั้งเราอาจลืมไปว่าการเกษตรและ วทน. เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันและไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะการดูแลพืชและการเจริญเติบโต การบริหารจัดการดิน น้ำ แสงแดด และปัจจัยการผลิตอื่นๆล้วนต้องอาศัย วทน.

หากพูดถึงต้นน้ำของห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าอันได้แก่ ชนิดของพืช พันธุ์พืช วิธีการปลูกและการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมการสร้างให้พืชมีระบบรากที่แข็งแรงเพื่อให้ต้นพืชมีการเจริญเติบโตที่ดีดินแบบไหนที่เหมาะสมกับพืชชนิดนั้นๆ ต้องมีการจัดการดินปลูก ต้องรู้ว่าพืชต้องการน้ำเท่าใด จึงจะมีการให้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการด้านศัตรูพืชตลอดจนการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้องค์ความรู้และผลงานวิจัยด้าน วทน. ทั้งหมดกลางน้ำของห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าเช่นวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การยืดอายุผลผลิตของพืชผัก ผลไม้ต่างๆ โดยการใช้ฟิล์มยืดอายุในการเก็บรักษา การแปรรูปผลผลิตการเกษตรเช่น การอบแห้ง การบรรจุกระป๋อง การออกแบบบรรจุภัณฑ์หีบห่อ ล้วนต้องใช้ความรู้ด้าน วทน. ส่วนปลายน้ำ คือ การขายสู่ตลาดก็ยังคงต้องใช้ วทน. ด้านโลจิสติกส์ 

การผลิตด้านอุตสาหกรรมมักเรียกโรงงานว่า ‘Plant’ ขณะเดียวกันเราเรียกต้นพืชว่า ‘Plant’ เหมือนกัน ดังนั้นผลิตผลเกษตรที่เกิดจากต้นพืชก็คือผลผลิตจากโรงงาน แต่เป็น “โรงงาน” ที่มีชีวิต หรือเป็น ‘BioPlant’ นั่นเอง ความรู้หรือข้อมูลต่างๆ ที่จะนำมาบริหารจัดการการผลิตจาก ‘BioPlant’ นั้นต้องได้จากงานวิจัยเกี่ยวกับพืชและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากในปัจจุบัน

โครงการนำร่องการใช้ วทน. ในภาคการเกษตร  รศ.ดร. อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ ให้สัมภาษณ์


โครงการนำร่องที่นำ วทน.ไปใช้กับภาคการเกษตรคือโครงการใด

โครงการที่ได้นำร่องโดยการนำ วทน. มาใช้กับพืชผลทางการเกษตร คือ โครงการแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไย กระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) นำผลงานวิจัยที่นำร่องระยะเริ่มต้นมาดำเนินงานต่อ เพื่อให้มีการดำเนินงานโครงการครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของสินค้าลำไย

มีการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ไว้ คือ โรงงานต้นแบบในการบ่มหรือรมผลลำไยสดด้วยการใช้กำมะถัน เพื่อการควบคุมกำจัดศัตรูพืชที่มีโอกาสติดไปกับผลลำไยสดที่ส่งออกไปประเทศจีนและต่อยอดผลงานวิจัยจาก วว. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) อีกครั้งหนึ่ง ทำให้คุณภาพของผลลำไยดียิ่งขึ้น

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่ง SMS ทางโทรศัพท์ให้เกษตรกรเพื่อเตือนว่าระยะใดควรทำอะไรบ้าง การเตือนการระบาดของศัตรูพืชโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สวทช.และมีการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ ซึ่งต้องอาศัยนักพืชศาสตร์ทำงานร่วมกับนักเทคโนโลยี มีการทำ QR CODE เพื่อเป็นการตรวจสอบย้อนกลับและประกันคุณภาพของลำไยเป็นต้น 

ในระยะแรกนำร่องที่พื้นที่ใดบ้าง

โครงการแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไย เริ่มต้นที่ 8 จังหวัดทางภาคเหนือที่มีการปลูกลำไยมากและจัดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญมีการทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกลำไย เจ้าของโรงอบลำไย ผู้ส่งออก ตลาดกลาง และผู้ประกอบการทางภาคเหนือ 

มีรูปแบบในการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร

การใช้ผลงานวิจัยและองค์ความรู้ด้าน วทน. เพื่อพัฒนาคุณภาพของผลผลิตลำไยและแก้ไขปัญหาของการส่งออก เริ่มจากการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน โดยทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ พิจารณาว่าองค์กรหรือหน่วยงานใดเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านใดไว้บ้าง และมีการแบ่งหน้าที่การทำงาน มีการตั้งโจทย์และเป้าหมายที่แต่ละองค์กรหรือหน่วยงานรับผิดชอบ ทำให้เกิดเป็นกระบวนการการทำงานร่วมกัน โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางทำหน้าที่เป็น Call Center ทำงานร่วมกับเกษตรอำเภอ และผู้นำหมู่บ้านเพื่อประกาศทางหอกระจายข่าวให้เกษตรกรได้ทราบข่าว หรือเตือนข่าวว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นบ้างในการปลูกพืชและมีการรายงานผลเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง

ปัญหาและอุปสรรคของโครงการนี้คืออะไรบ้าง

ปัญหาเรื่องการทำงานที่ไม่มีความต่อเนื่องของโครงการ รวมถึงปัญหาด้านแรงงาน เกษตรกรมีอายุมาก การขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ

มีการแก้ปัญหาเบื้องต้นของโครงการอย่างไร

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สนับสนุนงบประมาณในการประดิษฐ์เครื่องเก็บเกี่ยวลำไย เพื่อลดการใช้คนงานหรือแรงงาน รวมถึงส่งเสริมเทคโนโลยีในการตัดแต่งและการจัดทรงพุ่มเพื่อทำให้ต้นเตี้ยลง ทำให้คนเก็บได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น

ผลกระทบของโครงการ

มีการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในพื้นที่ สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดได้ เช่น จังหวัดเชียงใหม่รับแนวความคิดของโครงการฯ นี้เป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่จะทำต่อไป และถ้าทุกจังหวัดรับพืช ผลไม้ จังหวัดละ 1 ชนิด จะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้มากกว่านี้

ความท้าทายในการใช้ วทน. กับภาคการเกษตร

ถ้าประเทศไทยยังไม่เริ่มนำผลงานวิจัยมาใช้ หากประเทศอื่นนำเอาพืชของไทยและผลงานวิจัยไปต่อยอด จนสามารถจดลิขสิทธิ์และพัฒนาต่อเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ด้านธุรกิจ ก็จะทำให้ประเทศเสียโอกาส ตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมา เช่น เถาวัลย์เปรียง เปล้าน้อย ที่เป็นพืชสมุนไทยของไทย ที่ถูกนักวิจัยต่างประเทศนำไปวิจัยและจดลิขสิทธิ์ เป็นต้น

มีข้อเสนอแนะในการนำ วทน. มาใช้ในภาคการเกษตรอย่างไรบ้าง

นักวิทยาศาสตร์ควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเรื่องการวิจัยด้านพืช การวิจัยต่อยอดและสามารถพัฒนาสินค้าเกษตรหรือสินค้าต่อเนื่องให้เป็นธุรกิจ ประเทศไทยมีหน่วยงานและองค์กรที่มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่เก่งและมีความรู้ที่หลากหลาย แต่ปัญหาก็คืองานวิจัยไปไม่ถึงปลายทางก็คือผู้บริโภค ทั้งนี้อาจขาดการร่วมกันทำงานหรือนโยบายไม่ชัดเจนในการทำงานร่วมกัน ควรจะนำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ทางด้าน วทน. เพื่อช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานอื่นๆ ที่อาจมีบทบาทและหน้าที่ที่เกี่ยวเนื่องทำงานให้สำเร็จและดียิ่งขึ้นกว่านี้