You are here

วงจรการพัฒนาเทคโนโลยีสู่การนำไปใช้ประโยชน์

ไม่ว่าท่านจะเป็นวิศวกร ผู้ที่สนใจเทคโนโลยี นักการตลาด หรือผู้บริหาร ท่านควรอ่านบทความนี้เพื่อสร้างความเข้าใจวงจรการพัฒนาเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีมาใช้ และการนำเข้าสู่ตลาด เนื่องจากคนส่วนหนึ่งยังมีความเข้าใจวงจรชีวิตด้านการวิจัย (Research Cycle) ที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างธรรมชาติของวงจรการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ Gartner Research’s Hype Cycle (ดังแสดงในรูปที่ 1)

รูปนี้อธิบายถึงความคาดหวังที่เกิดขึ้นใน Gartner’s Hype Cycle มี 5 ช่วง (แหล่งที่มา Gartner, August 2010) คือ

  1. ช่วงการเริ่มต้นในการพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Trigger) เป็นระยะที่เทคโนโลยีใหม่สร้างความสนใจให้กับภาคอุตสาหกรรมและจะเป็นจุดเริ่มต้นของตลาด
  2. เมื่อเทคโนโลยีก้าวเข้าสู่ช่วงที่ได้รับความคาดหวังสูงสุด (Peak of Inflated Expectations) เป็นช่วงที่บริษัทที่มีวิสัยทัศน์ได้นำเทคโนโลยีมาใช้และได้พัฒนาไปจนสุดความสามารถและพบข้อจำกัด
  3. บริษัทเหล่านี้มีความสามารถในการรอคอยที่จำกัด และมองว่าเทคโนโลยีใหม่ไม่ใช่สิ่งจะแก้ไขได้ทุกปัญหา จึงทำให้มองความท้าทายและการนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ช้า มากกว่าการมองถึงโอกาสด้านเทคโนโลยี ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องเผชิญความยากลำบาก (Trough of Disillusionment)
  4. ผู้ใช้เริ่มมีประสบการณ์ของเทคโนโลยีใหม่ มีแนวปฏิบัติตัวอย่าง (Best Practices) และมีการนำไปใช้เกิดขึ้น ในช่วงนี้เองเทคโนโลยีจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการยอมรับ (Slope of Enlightenment)
  5. เทคโนโลยีสร้างคุณค่าให้กับโลกและเป็นที่ยอมรับในภาคอุตสาหกรรม, มีบริษัทนำไปใช้มากขึ้น และมีผู้ใช้และผลักดันเทคโนโลยีเข้าสู่ช่วงการเพิ่มผลิตภาพ (Plateau of Productivity)

เมื่อพิจารณาเทคโนโลยีแต่ละประเภทพบว่าต้องการระยะเวลาในการพัฒนาเพื่อไปสู่การเพิ่มผลิตภาพและออกสู่ตลาดไม่เท่ากัน ตัวอย่าง รายงานเทคโนโลยีอุบัติใหม่ของ Gartner Hype Cycle Report 2014 ได้วิเคราะห์หัวข้อด้านเทคโนโลยี บริการและแนวโน้มมากกว่า 2,000 หัวข้อ ใน 119 สาขา และพิจารณาผลกระทบของ Megatrends ที่จะเกิดขึ้น พบว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีอุบัติใหม่และความคาดหวังของเทคโนโลยีเหล่านั้น ซึ่งมีรายชื่อเทคโนโลยีแสดงในรูปที่ 2 ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีการวิวัฒนาการไปตามปัจจัยแวดล้อมและระยะเวลา โดยหลายเทคโนโลยียังต้องใช้ความพยายามในการพัฒนาอีกไม่น้อยกว่า 10 ปี เช่น Volumetric and Holographic Displays บ้างก็ยังต้องใช้เวลาในการยกระดับอีก 5-10 ปี เช่น 3D Bioprinting Systems บ้างก็ยังต้องใช้เวลาอีก 2-5 ปี เช่น Enterprise 3D Printing บางเทคโนโลยีต้องการเวลาอีกไม่เกิน 2 ปี เช่น Speech Recognition และก็จะมีเทคโนโลยีจำนวนหนึ่งที่มิอาจก้าวพ้นอุปสรรคและออกสู่ตลาดได้ เป็นต้น

รูปที่ 2 Emerging Technologies in 2014

Hype Cycle ทำให้ผู้ใช้ที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้แตกต่างกันได้ทราบว่า เทคโนโลยีที่ต้องการนั้นจะเกิดขึ้นและมีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของตนในช่วงเวลาอีกประมาณกี่ปี เช่น สถาบันวิจัยของรัฐที่มีหน้าที่ในการสร้างเทคโนโลยีจะสนใจเทคโนโลยีที่อยู่ในช่วงที่ 1 (Innovation Trigger) ส่วนหน่วยงานที่มีหน้าที่นำเทคโนโลยีไปสู่ภาคการผลิต จะสนใจเทคโนโลยีที่อยู่ในช่วงแรกเริ่มของระยะที่ 4 (Slope of Enlightment) เป็นต้น หากมองเชื่อมไปยังศักยภาพตลาด Nanotechnology พบว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านนาโนเทคโนโลยีจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละช่วงเวลา

ตัวอย่างเช่น NEDO ซึ่งอยู่ภายใต้ METI, Japan ได้ประมาณขนาดตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 2005-2030 ว่าจะเติบโตขึ้นจาก 42 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2010, 134 พันล้านเหรียญในปี 2020, และ 264 พันล้านเหรียญในปี 2030 โดยผลิตภัณฑ์พื้นฐานสำหรับผู้บริโภคด้านนาโนเทคโนโลยีที่ผลิตในญี่ปุ่น ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ แฟลชเมมโมรี ในปี 2005, รวมถึง field emission display (FED) และ surface-conduction electron-emitter display (SED) glass ในปี 2020, และเมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีอนาคตในปี 2030 พบว่าผลิตภัณฑ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนอุตสาหกรรมพลังงาน เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง ส่วนแอพพลิเคชั่นในด้านสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะมีตลาดที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก

ซึ่งหากเมื่อมีการทำการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัย และ matching ข้อมูลเฉพาะด้านเพิ่มเติมจะสามารถนำไปสู่การมองเห็นโอกาสของการยกระดับการพัฒนาที่เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้