You are here

เมื่อนาโนเทคโนโลยีมีบทบาทกับผ้าทอพื้นเมือง

เมื่อพูดถึงสิ่งทอของไทย คนทั่วไปจะนึกถึงอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีการพัฒนาเส้นใย เนื้อผ้า เทคนิคในการตกแต่งผ้า การตัดเย็บ การออกแบบ ทำให้สามารถส่งออกสร้างรายได้ให้ประเทศถึงขนาดเคยเป็นดาวรุ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงสมัยหนึ่ง เมื่อหันกลับไปมองผ้าทอพื้นเมืองที่ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมหนึ่งของไทย การพัฒนาเสมือนอยู่คนละโลก มีการพัฒนาไปอย่างช้า ผ้าทอมือที่เราเห็นจนคุ้นตาดังเช่นผ้าฝ้าย ผ้าขาวม้า ผ้าฝ้ายตีนจก ม่อฮ่อม เป็นต้น หรือผ้าไหมผืนสวย เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าไหมตีนจก แม้ว่าคนไทยถือว่าผ้าไหมเป็นผ้าที่ทรงคุณค่า ชื่นชมในความสวยงามของผ้า รู้สึกถึงคุณค่าของเอกลักษณ์ลายทออันเป็นมรดกกทางวัฒนธรรมของไทย แต่ไม่สามารถสร้างให้เกิดการนำมาใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้อย่างแพร่หลายนัก ถ้าไม่นับในเรื่องของรูปแบบตามรสนิยมของผู้สวมใส่แต่ละท่านแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจซื้อคือ ความกังวลในการดูแลรักษา จำเป็นต้องซักแห้ง ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการสวมใส่ในแต่ละครั้ง ต้องเก็บให้พ้นแสงเพื่อไม่ให้สีซีดจางเร็ว เมื่อเป็นเช่นนี้ คนไทยจึงใส่ผ้าไหมในโอกาสสำคัญเท่านั้น ไม่ได้จะคิดนำมาใส่ในชีวิตประจำวัน นี่คือตัวอย่างของข้อจำกัดของการเลือกซื้อผ้าไหมผืนงามที่ทำให้ผ้าไหมมีปริมาณการใช้ไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น

ในกรณีผ้าฝ้ายทอมือ เป็นที่ทราบดีว่าสมบัติที่ดีของผ้าฝ้ายคือซึมซับเหงื่อได้ดี ทำให้เมื่อใส่แล้วรู้สึกสบายตัว แต่ตอนที่เราเห็นผ้าหรือเสื้อผ้าแขวนโชว์นั้น ผ้ายังมีผิวสัมผัสที่ค่อนข้างแข็ง อาจจะระคายผิวเมื่อใส่ในครั้งแรก ต่อเมื่อผ่านการซักหลายครั้งผ้าจึงอ่อนนุ่มและสวมใส่สบาย นอกจากนั้น ในการนำผ้าฝ้ายพัฒนาเป็นผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ชุดอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร กระเป๋า รองเท้า และอื่นๆ ผู้ซื้อมีความต้องการให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ สามารถใช้งานได้สะดวก เช่น กันเปื้อน กันน้ำ เพื่อสะดวกในการใช้งานจริง

จากองค์ความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยีในเรื่องของการนำอนุภาคนาโนที่มีสมบัติต่างๆ ได้แก่ การสะท้อนน้ำ การยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย การปรับสภาพเส้นใยให้อ่อนนุ่ม การป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต การกักเก็บอนุภาคกลิ่นและค่อยๆปล่อยอนุภาคกลิ่นให้ยาวนานขึ้น การหน่วงไฟ ฯลฯ สมบัติเหล่านี้ถูกมาใช้ประโยชน์ในหัตถอุตสาหกรรมผ้าทอพื้นเมือง เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการตัดสินใจซื้อ และเพิ่มโอกาสในการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้เหมาะสม อันเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายนั่นเอง

การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับงานหัตถอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้และศึกษาในกระบวนการผลิตทั้งหมดก่อน เพื่อทราบว่ากระบวนการใดที่จะนำเทคโนโลยีจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ซึ่งต้องสอดคล้องกับกระบวนการทำงานและผู้ทอให้การยอมรับ ดังนั้น การนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยสนับสนุนนั้นจะต้องเข้าใจเนื้องานและนำมาสรุปเป็นโจทย์งานวิจัยและพัฒนาว่าจะมีอะไรบ้าง ได้ผลลัพธ์เมื่อไร ต้องมีการลงทุนปรับปรุงหรือไม่ โดยใครเป็นผู้ลงทุน รูปแบบการดำเนินการจะเป็นอย่างไร กระบวนการติดตามผลงานโดยใครและอย่างไร โดยดึงชุมชนมาร่วมทำงานกระบวนการตั้งแต่ต้น และให้เห็นถึงผลของงานว่าเป็นความสำเร็จร่วม จากนั้นจึงถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน  

ทีมศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งเห็นความสำคัญของการนำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานหัตถอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายการพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองของไทย (Nano Textile) เป็นหนึ่งในงานวิจัยมุ่งเป้าของนาโนเทค (Flagship Program) ทำการศึกษาข้อมูลและลงพื้นที่ทั้งสี่ภาคของไทยตั้งแต่ปี 2556 และพบว่า เทคโนโลยีการเคลือบน้ำยานาโนในผ้าผืนและผ้าชิ้น มีความเหมาะสมและสะดวกต่อกลุ่มผู้ทอมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการควบคุมคุณภาพของผ้าเพื่อให้สมบัติพิเศษเช่น ต้านเชื้อแบคทีเรีย สะท้อนน้ำ ฯลฯ มีประสิทธิภาพตามที่กำหนดไว้ นอกจากน้ำยานาโนที่วิจัยและพัฒนามาแล้ว ยังมีเรื่องของกระบวนการเคลือบน้ำยาที่เหมาะสม  

โรงงานเคลือบผ้านาโนแห่งแรกของประเทศไทย ได้ถูกจัดตั้งขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคแพร่ เป็นโรงงานต้นแบบเพื่อบริการเคลือบผ้าทอพื้นเมือง โดยนำองค์ความรู้ทั้งสูตรน้ำยาสมบัติต่างๆ ที่คิดค้นร่วมกับกระบวนการเคลือบที่เหมาะสม ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่นำนาโนเทคโนโลยีที่ดูเข้าใจยาก ล้ำสมัย มาประยุกต์ให้เข้าถึงง่าย ที่จะช่วยผู้ทอที่ส่งผ้ามาเคลือบแล้วได้รับผ้าที่มีสมบัติต่างๆ มีมาตรฐานกลับไปจำหน่าย ถือได้ว่าโรงงานแห่งนี้ เป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของแวดวงหัตถอุตสาหกรรมที่จะมาช่วยปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าผ้าพื้นเมืองของไทย และความสำเร็จอีกมิติหนึ่งคือ ผลงานอย่างเป็นรูปธรรมของความร่วมมือจากเครือข่ายทางด้านสิ่งทอทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม